พลิก ก.ม. 'เบิกความเท็จ-พยานเท็จ' 'ทีมธนาธร' ส่อโดนซ้ำ!

พลิก ก.ม. 'เบิกความเท็จ-พยานเท็จ'  'ทีมธนาธร' ส่อโดนซ้ำ!

ปฏิบัติการของ “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ศรีสุวรรณ ที่ไล่บี้ กกต.ให้ลงดาบ 2 กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในความผิดอาญาและตัดสิทธิ์ทางการเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากการเป็น ส.ส. เพราะยังถือหุ้นสื่อ “บริษัท วี-ลัค มีเดีย”ในวันสมัครรับเลือกตัั้งนั้น

ผลจากความเคลื่อนไหวนี้ ไม่ใช่แค่นายธนาธรมีสิทธิ์โดนดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หรือ พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ มาตรา 151 ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ยาวนานถึง 20 ปี กรณีรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ทว่า นายศรีสุวรรณ ยังรุกฆาต ยื่นเรื่องให้ กกต.เล่นงานพยาน 10 ปากในคดีถือครองหุ้นสื่อ ในความผิดฐาน “เบิกความเท็จ” อีกด้วย

มุมมองของนายศรีสุวรรณ คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่เชื่อว่ามีการโอนหุ้นเกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 8 มกราคม ปี 62 ก็เท่ากับหลักฐานที่นายธนาธรนำมาแสดงต่อศาล อาจจะเป็นหลักฐานเท็จ และพยานที่ขึ้นเบิกความทั้งหมด รวม 10 ปาก คือพยานที่เบิกความเท็จ

นายศรีสุวรรณ อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดย กกต.ต้องเดินหน้าเรื่องนี้ ในฐานะผู้เสียหาย

เมื่อพลิกดูประมวลกฎหมายอาญา ในความผิดฐานที่ใกล้เคียงกัน จะพบว่าถ้างานนี้ กกต.เอาจริง นายธนาธรพร้อมพวกที่ขึ้นศาลเป็นพยาน น่าจะ “โดนเป็นแพ็ค” ไม่ใช่มาตรา 177 มาตราเดียว

ข้อมูลจากนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การเบิกความเท็จต่อศาล เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ซึ่งบัญญัติว่า

“ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

องค์ประกอบของความผิดนี้ คือ

1. เบิกความอันเป็นเท็จ ซึ่งต้องเป็นการเบิกความในการพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น (ไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นศาลไหน ฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะเข้าข่าย)

2. ความเท็จนั้นต้องเป็น “ข้อสำคัญ” หรือ “สาระสำคัญ” ในคดี โดยนิยามของ “ข้อสำคัญ” หรือ “สาระสำคัญ” นักกฎหมายบอกว่า คือความเท็จที่จะเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาได้

3. ถ้ากระทำผิดตามนี้ ต้องระวางโทษไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แปลว่าแม้ผิดจริง อาจโดนโทษจำคุกหรือไม่ก็ได้ คือถ้าไม่โดนคุก ก็จะโดนปรับ แต่ถ้าโดน 2 เด้ง คือทั้งคุกทั้งปรับ ก็เป็นไปได้เหมือนกัน

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ “ข้อสำคัญ” หรือ “สาระสำคัญ” ที่เป็นความเท็จนั้น มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือไม่ เรื่องนี้ กกต.ต้องเป็นผู้วินิจฉัย

ฐานความผิดที่เกี่ยวข้องยังไม่หมดแค่นั้น ยังมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 ว่าด้วยการนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จด้วย

มาตรา 180 บัญญัติว่า “ผู้ใดนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

องค์ประกอบของมาตรานี้ ก็คล้ายๆ กับมาตรา 177 คือต้องเป็นการนำสืบ หรือแสดงพยานหลักฐานเท็จต่อศาล และพยานหลักฐานที่ว่านั้น ต้องเป็น “ข้อสำคัญ” ในคดีเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ด้วย

มาตรา 137 กกต.ต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายหรือไม่ เพราะไม่เกี่ยวกับศาล หาก กกต.มองว่าพยานหลักฐานที่ฝ่ายของนายธนาธรนำส่ง เป็นพยานหลักฐานเท็จ ก็อาจเข้าข่ายฐานความผิดนี้

กกต.ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพิจารณาดำเนินคดีทั้งหมดนี้ได้ เพราะความผิดเหล่านี้เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน และเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งไม่สามารถยอมความได้

สำหรับพยาน 10 คนในคดีหุ้นสื่อของนายธนาธร ประกอบด้วย ตัวนายธนาธรเอง, นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา, นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา, นายปิติ จรุงสถิตย์พงศ์ และ นายทวี จรุงสถิตย์พงศ์ ลูกพี่ลูกน้องของนายธนาธร ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของนางสมพรที่อ้างว่ารับโอนหุ้น, นางสาว ลาวัลย์ จันทร์เกษม และ นางสาวกานต์ฐิตา อ่วมขำ เจ้าหน้าที่ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด, นายณัฐนนท์ อภินันท์ ทนายความ, นายพิพัฒพงศ์ รุจิตานนท์ ทนายความ และ นายชัยสิทธิ์ กล้าหาญ คนขับรถ

อ่านข่าว-'ธนาธร' ไม่รอด! ศาลรธน.ตัดสิน 7:2 คดีถือหุ้นสื่อ