ธปท.กางแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี รับมือ '7 ประเด็น' ท้าทายบนโลกอนาคต

ธปท.กางแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี รับมือ '7 ประเด็น' ท้าทายบนโลกอนาคต

ใกล้สิ้นสุดแล้วสำหรับแผนยุทธ์ศาสตร์ 3ปีของธปท.ที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2560-2562 ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์สำคัญๆ ของ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) 3ปีที่ผ่านมา มีหลายด้านที่ธปท.เชื่อว่า เป็นไปตามแผน และดีกว่าแผนที่วางไว้

แต่ก็มีบางด้านที่ทำได้ “ไม่ดี”ดังนั้นหลายเรื่องจะถูกยก มาเป็นหัวใจสำคัญ ของแผนยุทธ์ศาสตร์ในระยะ 3ปีข้างหน้านี้ด้วย

ก้าวต่อไป สำหรับแผนยุทธ์ศาสตร์ 3ปีข้างหน้า ( ปี 63-65) “วิรไท” กล่าวว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นแผนยุทธ์ศาสตร์ของธปท.คือ “ธนาคารกลาง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” Central banking in a transformative world สิ่งที่เน้นมากคือ Transformation ธนาคารกลางต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้เท่าทันกับโลกที่กำลังแปรเปลี่ยนไป เพื่อทำให้ธปท.ได้ทำหน้าที่ในการตอบโจทย์วิสัยทัศน์เดิม ของการเป็นองค์กรกลาง เพื่อความเป็นอยู่ยั่งยืนของไทยในระยะข้างหน้า เพราะเชื่อว่า3ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วกว่า 3ปีที่ผ่านมาแน่นอน 

ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะมีหลายเรื่องที่จะมากระทบต่อ การทำหน้าที่ของธนาคารกลาง เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะเข้ามากระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาประท้วง ปัญหาสังคมสูงวัยจะมีผลกระทบมากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น

“ใน 3ปีข้างหน้า เราจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว เพราะโลกกำลังทรานฟอร์ม มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เรากำลังอยู่ในโลกของ VUCA ที่อยู่กับความผันผวนสูง ความไม่แน่นอน ความซับซ้อนสูงขึ้น ดังนั้น 3ปีข้างหน้า เราจึงเรียกว่าเป็น VUCAPLUS ที่ความผันผวนจะมากกว่าเดิม เมื่อก่อนอาจเป็นประภาคารที่อยู่บนพื้นดิน แต่วันนี้เราเหมือนประภาคารที่อยู่บนทุ่นลอยน้ำ แล้วทะเลก็มีความผันผวนสูง และมีคนตัวเล็กตัวน้อย ที่เราจะต้องดูแลในสังคม  มีทั้งโลกใหม่ที่เราต้องไปอย่างเท่าทัน และโลกเก่า ที่ต้องดูแลด้วย เพราะเราไม่สามารถทอดทิ้งคนในโลกเก่าได้ ดังนั้นทำอย่างไรให้คนในโลกเก่าสามารถพัฒนาไปสู่โลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้”

ดังนั้นพันธกิจของธปท.ยุทธ์ศาสตร์ในระยะ 3ปีข้างหน้า ธปท.ต้องให้ความสำคัญมากกับ “ความท้าทาย” และนำความท้าทายมาเป็นตัวตั้งเพื่อใช้ในการตอบโจทย์และให้บรรลุเป้าหมายที่ธปท.คาดหวังไว้ได้ 

สำหรับความท้าทายและการวางรากฐานที่สำคัญขององค์กรในระยะข้างหน้า มี 7 ด้านด้วยกัน 1. ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนมากขึ้น เป้าหมายสำคัญคือ ต้องการให้การเงินดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจได้ 

2.กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่ โดยกฏเกณฑ์จะต้องเอื้อต่อภาคธุรกิจการเงินเท่าทันการเงินดิจิทัล แข่งขันได้เท่าเทียม และลดช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ลง 3.นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องเผชิญขีดจำกัด ซึ่งสิ่งสำคัญการดำเนินนโยบายต้องทำให้สาธารณชนสามารถเข้าใจการดำเนินนโยบายของ ธปท.และปรับตัวต่อสัญญาณของนโยบายได้อย่างเหมาะสม

4. อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้น ภาคเอกชนต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น การติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายจะต้องเท่าทันกับโลกการเงินดิจิทัล ทำให้การไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น

5. ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี และเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน ซึ่งจะต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของภาคการเงินมีเสถียรภาพ ให้บริการได้ต่อเนื่อง และพร้อมรองรับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์จากนอกภาคการเงินได้

6. การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 7. การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ปัจจุบันธนาคารกลางต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายขึ้น ดังนั้น จะต้องทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าใจและเชื่อมั่นบทบาทและเหตุผลในการดำเนินนโยบายของธปท.

ท้ายที่สุดการวางรากฐานที่สำคัญขององค์กรสิ่งที่ขาดไม่ได้ ยังมีอีก 3ด้านสำคัญ คือ การปลดล็อกและเสริมสร้างศักยภาพพนักงานให้เป็นพลังขององค์กร และปรับวัฒนธรรมองค์กรให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในทุกกระบวนการทำงานของธปท.ด้วย