ค่ายมือถือเดือดชิงลูกค้า รับสงครามค่าโทรปะทุ

ค่ายมือถือเดือดชิงลูกค้า  รับสงครามค่าโทรปะทุ

ภาวะการแข่งขันในแต่ละธุรกิจถือว่าเป็นเรื่องปกติในตลาดเสรี ที่จะมีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดมาดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาเป็นกลุ่มลูกค้า และกลยุทธ์ที่เห็นผลได้ชัดและเร็วที่สุดหนีไม่พ้นการสู้กันด้วยราคาที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทันที

    ธุรกิจการสื่อสารของไทยแม้จะมีผู้ประกอบการเพียงแค่ 3 ราย แต่ด้วยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ระบุ มูลค่าการตลาดสื่อสารของไทยมหาศาลปี 2561 อยู่ที่ 117,714 ล้านบาท 

     และคาดการณ์ว่าปี 2562 มูลค่าการตลาดอยู่ที่ 122,404 ล้านบาท และโฟกัสไปที่ตลาดอินเตอร์เน็ตของไทยมียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปีและยังเป็นทิศทางขาขึ้นต่อเนื่องในอนาคตจากการเข้าสู่ยุค 5 G

     ดังนั้นผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดพยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและชิงฐานลูกค้าจากรายอื่น เมื่อมีโอกาสหลังคลื่นในมือไม่กระจุกตัวเพียงแต่รายใหญ่แต่เริ่มกระจายมากขึ้นจากการประมูลคลื่น 4 G เมื่อปี 2558 ทำให้เบอร์ 2 และ 3 ในอุตสาหกรรมมีศักยภาพแข่งขันกับรายใหญ่มากขึ้น

    โดยจะเห็นการทำสงครามราคาตั้งแต่การโอนเปลี่ยนถ่ายลูกค้าจากระบบ 2 G มายัง 3 G ของเบอร์ 1 ในอุตสาฯ ทำให้เกิดช่องว่างให้รายอื่นเสนอโปรโมชั่นลดแลกแจกเครื่องโทรศัพท์ มาพร้อมกับการย้ายค่ายจนทำให้เกิดการเปิดสงครามค่าโทรเกิดขึ้นทันที

   ขณะเดียวกันทำให้เกิดปรากฎการณ์ ‘ลูกเล่น’ ของแต่ละค่ายมือถือที่งัดมาใช้เพื่อตรึงลูกค้าไว้กับตัวเองไว้ให้มากที่สุด ซึ่งผลต่างกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งส่วนแบ่งทางการตลาดระหว่างเบอร์ 2 และ 3 ทันที

    ปัจจุบันวัดตามมูลค่าส่วนแบ่งทางตลาดจากฐานลูกค้าแล้ว บริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ยังสามารถครองเบอร์ 1 มาตลอด ด้วยจำนวนฐานลูกค้า 41.55 ล้านราย อันดับ 2 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE มีจำนวนฐานลูกค้า 30.1 ล้านราย และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ค คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC จำนวนฐานลูกค้า 20.4 ล้านราย

   การแข่งขันทีดุเดือดในกลุ่มสื่อสารยังมีมาให้เห็นอีกหลายระรอกซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 ทั้ง 3 ค่ายออกหมัดเด็ดโปรแรงเจาะกลุ่มลูกค้าเติมเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีสัดส่วนมากที่สุด ด้วยการทำโปรโมชั่นราคาถูกแต่ให้ปริมาณใช้ดาต้าที่มากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจย้ายค่ายได้ทันที

    โปรโมชั่นด้านราคายังไม่เพียงพอเพราะบางค่ายเพิ่มให้คอนเทนส์ด้านกีฬา รวมไปถึงบันเทิงเพิ่มเติมกับโปรโมชั่นไปในตัว หรือจะนำพอยต์ที่ได้ไปแลกซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อตลอด 24 ชั่วโมงได้อีก

    จากการแข่งขันดังกล่าวทำให้ทุกค่ายมือถือต่างระบุถึงตลาดในช่วงนี้ส่งผลต่อรายได้ ด้านแอดวานซ์ มีรายได้จากการบริการหลัก (ไม่รวมผลกระทบจากTFRS 15) ในไตรมาส 3/2562 เติบโตอยู่ที่ 35,527 ล้านบาท 7.2 % เทียบกับปีก่อน แต่รายได้จากบริการหลักทรงตัว เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในตลาด โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน

    ขณะที่ ทรู ฐานลูกค้าใหม่ในไตรมาสดังกล่าวเพิ่ม 2.71 แสนราย มาจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมในตลาดบริการระบบเติมเงินมีการแข่งขันที่สูงด้วยแพ็กเกจที่ดึงดูดลูกค้าให้ ใช้งานดาต้าด้วยปริมาณที่สูงหรือใช้งานได้ต่อเนื่องทั้งแบบจำกัดและไม่จำกัดความเร็ว รวมถึงการผสานการใช้บริการเสียงสำหรับ โทรถึงทุกเครือข่าย เพื่อเพิ่มการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทรูมูฟ เอช

   ส่วนดีแทค มีจำนวนลูกค้าใหม่กลุ่มเติมเงินหายไปมากที่สุด 45.1 % จากไตรมาสก่อน และรับว่าตลาดยังคงมีการแข่งขัน โดยเฉพาะในระบบเติมเงิน แต่ยังสามารถ เติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากความต้องการใช้งานข้อมูล และแนวโน้ม ของลูกค้าที่จะเปลี่ยนไปใช้บริการระบบรายเดือน

   แม้ว่าในไตรมาส 3 ปี 2562 โอปอเรเตอร์ทุกรายได้ออกแพ็คเกจระบบเติมเงินที่ให้บริการ ข้อมูลแบบจำกัดแต่มีโควต้าในการใช้บริการข้อมูลเพิ่มขึ้นมาก และยัง รวมถึงบริการเสียงแบบไม่จำกัดบนทุกเครือข่ายอีกด้วย

   แน่นอนว่าสงครามราคาของค่ายมือถือจะมีให้เห็นอยู่ตลอดยิ่งเทคโนโลยีกำลังเข้าสู่ 5 G มาพร้อมฐานลูกค้าใหม่ที่เกิดขึ้นจำนวนมากซึ่งขึ้นอยู่กับว่าโอปอเรเตอร์ไหนจะมีหน้าตักในมือพอที่จะรับผลกระทบไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า รายได้ กำไร ได้ดีกว่ากัน 

อ่านข่าว-กสทช.ผนึก ทอท. ชิงเปิด '5จี' พ.ค.63