บริษัทอาเซียนชูธงลงทุนยั่งยืน

บริษัทอาเซียนชูธงลงทุนยั่งยืน

ธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังปรับปรุงประวัติด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ในช่วงที่ตลาดเงินทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียนรีวิว รายงานว่า เมื่อปี 2561 การลงทุนทั่วโลกที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลทะลุ 30 ล้านล้านดอลลาร์ บริษัทเอเชียต่างกระหายอยากมีส่วนร่วม ตลาดหุ้นเอเชียก็รับลูก โดยตลาดหลักทรัพย์ 10 แห่งใน 8 ประเทศ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องรายงานการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (อีเอสจี) มากยิ่งกว่าในยุโรปที่ปกติแล้วจะให้กู้เงินต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย

“ระหว่างปี 2559-2562 มีการระดมทุนเกือบ 1.37 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อลงทุนด้านอีเอสจีจำนวนไม่น้อยกว่า 51 กองทุน กว่าครึ่งเป็นกองทุนที่เน้นเอเชีย” โทมัส แลนยี ประธานสมาคมบริษัทร่วมลงทุนและหุ้นนอกตลาดสิงคโปร์กล่าว

โอแลมอินเตอร์เนชันแนล บริษัทซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์จากสิงคโปร์ เป็นหนึ่งรายที่ร่วมวงอีเอสจี ได้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 500 ล้านดอลลาร์เป็นเวลา 3 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่า บริษัทต้องบรรลุเกณฑ์อีเอสจี เช่น การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและแรงงาน

ช่วงต้นปี 2562 โอแลมประกาศว่าภายใน 5 ปี บริษัทจะเทขายธุรกิจน้ำตาล ยางพารา สินค้าไม้ และปุ๋ย เนื่องจากไม่เข้ากับยุทธศาสตร์สำคัญที่วางไว้ จากนั้นจะจัดสรรเงินที่ได้ 1.6 พันล้านดอลลาร์ไปให้ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถทำกำไรได้มากขึ้น เช่น ถั่วเมล็ดแห้งและกาแฟ

“ตอนนี้เอเชียให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และกำลังไล่ทันยุโรปในเรื่องอีเอสจี” ซันนี เวอร์กีส ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารโอแลมกล่าว

ขณะที่ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป ผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องชั้นนำระดับโลก เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ใช้หลักการนี้ หลังจากปี 2558 สำนักข่าวเอพีทำสารคดีเรื่องที่ซัพพลายเออร์บางรายใช้แรงงานทาส และกลุ่มสิทธิมนุษชนประณามอุตสาหกรรมประมงไทยที่ใช้แรงงานทาสกลางทะเล บริษัทจึงเปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิบัติ เช่น นำระบบใหม่มาใช้ตรวจสอบความรุนแรงบนเรือประมง

เมื่อต้นเดือน ก.ค. สถาบันเพื่อสิทธิมนุษยชนและธุรกิจ กลุ่มคลังสมองของอังกฤษจัดงาน “เวทีสัมมนาโลกเพื่อการคัดแรงงานอย่างรับผิดชอบ” ขึ้นที่กรุงเทพฯ ดาเรียน แมคเบน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการบรรษัทและความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน แสดงปาฐกถาในงานได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง เมื่อเธอเล่าถึงวิธีการที่บริษัทจัดการกับปัญหาทาสยุคใหม่

“เราทำงานหนักเพื่อต่อสู้กับปัญหาทาสยุคใหม่ และส่งเสริมให้ซัพพลายเชนทั้งหมดใช้แรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและปลอดภัย รวมถึงการวางตำแหน่งตนเองให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ของภาคธุรกิจ” แมคเบนกล่าวบนเวที

นอกเหนือจากการดึงดูดการลงทุนอีเอสจีแล้ว ความท้าทายอีกประการหนึ่งของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ เอาชนะอคติของนักลงทุนที่มีต่อภูมิภาคนี้

ตัวอย่างเช่น บริษัทไซม์ดาร์บีของมาเลเซียผู้ปลูกและผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก มักถูกนักลงทุนอีเอสจีและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมวิจารณ์บ่อยครั้ง รวมถึงถูกวิจารณ์เหมารวมเรื่องการปลูกพืชในสวนที่บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของ

โมฮัมหมัด นาซีร์ อับ ลาติฟ ประธานสภานักลงทุนสถาบันมาเลเซีย เผยว่า ด้วยเหตุนี้นักลงทุนต่างชาติจึงด่วนสรุปว่า บริษัทมาเลเซียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลูกพืชทำลายสิ่งแวดล้อม นักลงทุนชาวยุโรปและอเมริกันอาจพากันขายหุ้นบริษัทมาเลเซียได้

สภานักลงทุนฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปด้านบรรษัทภิบาล นอกจากเรียกร้องให้บริษัททั้งหลายปรับปรุงเรื่องการบริหารงานแล้ว สภาก็พยายามลบล้างความเข้าใจผิดของนักลงทุนตะวันตกด้วย ตอกย้ำถึงแรงกดดันที่ต้องให้ความสำคัญกับอีเอสจี

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของรัฐบาลมาเลเซียเผยว่า การดึงดูดการลงทุนอีเอสจีสำคัญมากกับการเติบโตของเอเชีย และทำให้บริษัทเอเชียแข่งขันได้

ขณะเดียวกันนักลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พร้อมแล้วกับหลักการอีเอสจี อย่างกองทุนเทมาเส็กโฮลดิงส์ของรัฐบาลมาเลเซีย ที่มีสินทรัพย์กว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทุ่มเงินลงทุนราว 70% ในบริษัทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และสิงคโปร์

ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเทมาเส็กส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน เมื่อ 3 ปีก่อนกองทุนได้ตั้งทีมพิเศษขึ้นมาพิจารณาเรื่องการลงทุนอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะ

ลิ้ม บุน เฮง ประธานเทมาเส็กกล่าวเมื่อเดือน ต.ค.ว่า เทมาเส็กจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างยั่งยืนของการลงทุน ซึ่งนั่นก็คืออีเอสจี ด้วยเหตุนี้กองทุนก็ต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ของตนเองเช่นกัน