ราคาข้าวจ่อร่วง "อนุฯนบข."เตรียมทุ่ม 7 หมื่นล้านพยุงตลาด

ราคาข้าวจ่อร่วง  "อนุฯนบข."เตรียมทุ่ม  7 หมื่นล้านพยุงตลาด

จากปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลถึงผลผลิตข้าวให้ออกสู่ตลาดพร้อมกันจากเดิมชาวนาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางจะมีช่วงเห่างการเก็บเกี่ยวแบบเหลี่ยมกันแต่ปีนี้ต้องเกี่ยวพร้อมกัน อาจนำไปสู่ปัญหาราคาข้าว"ร่วง"

วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (นบข.ด้านตลาด) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้อนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการยกระดับราคาข้าวเปลือกจำนวน 3 โครงการ วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อดึงผลผลิตข้าวเปลือกออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมาก และป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ โดยมีเป้าหมาย 6.5 ล้านตัน

       โครงการแรก เป็นโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี จะจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเองเป็นค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เก็บกี่ตันก็เอา 1,500 บาทคูณกับจำนวนข้าวเปลือกที่เก็บ ก็จะมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ทันที

 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะจ่ายให้ก่อน แต่ถ้าสถาบันเกษตรกรเป็นผู้เก็บ เกษตรกรจะได้ค่าฝากเก็บตันละ 500 บาท สถาบันเกษตรกรได้ตันละ 1,000 บาท มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน และยังสามารถนำข้าวที่เก็บไว้ ไปขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ได้อีก จะได้ค่าข้าว 80%ของราคาตลาด โดยข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 11,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 9,900 บาท และข้าวเหนียวตันละ 8,700 บาท โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เริ่มโครงการตั้งแต่ 1 พ.ย.2562

  ส่วนโครงการที่ 2 สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร กำหนดวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท เป้าหมายข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน โดยจะให้สถาบันเกษตรกร กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน เข้าไปรับซื้อข้าว รวบรวมข้าว สามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. และเสียดอกเบี้ยเพียง 1%รัฐอุดหนุนดอกเบี้ยให้ 3%เริ่มโครงการ 1 พ.ย.2562

สำหรับโครงการที่ 3 เป็นโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก มีเป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 45,000 ล้านบาท โดยรัฐจะช่วยภาระดอกเบี้ย 3%ที่ผู้ประกอบการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารรัฐ โดยมีเงื่อนไขต้องเก็บข้าวไว้ในสต็อก 2-6 เดือน ระยะเวลารับซื้อ 20 พ.ย.2562-30 เม.ย.2563 ส่วนภาคใต้เริ่มซื้อ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2563

 “ผลจากการที่ นบข.ด้านตลาด อนุมัติโครงการ และให้ดำเนินการย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 พ.ย.2562 เพราะก่อนหน้านี้ ได้มีการเตรียมการกันมาแล้ว เมื่อมีมติออกมา ก็ทำให้ดำเนินการต่อได้ทันที และยังส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทันที โดยข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มขึ้นตันละ 1,000-1,200 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 1,500 บาท และมั่นใจว่ามาตรการที่ออกมา จะช่วยดูแลราคาข้าวเปลือกนาปีในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดได้”

     

พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่ากรมฯได้เตรียมความพร้อมสหกรณ์การเกษตรเพื่อเข้าโครงการชะลอและรวบรวมข้าวเปลือกปี 2562/63ของรัฐบาล โดยให้สหกรณ์จังหวัดเร่งแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ภายหลังจากที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญผู้ประกอบการค้าข้าว ธ.ก.ส. สมาคมธนาคารไทย องค์การคลังสินค้า และกรมส่งเสริมสหกรณ์การหารือถึงสถานการณ์ราคาข้าวและการซื้อขายข้าวเปลือก เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่ามีโรงสีเอกชนและสหกรณ์การเกษตรบางแห่งต้องปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกร เพราะประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 3 มาตรการจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่3ธ.ค.62นี้

 “ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวจากสมาชิก เป็นสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร488 แห่งใน 62 จังหวัด สมาชิก 3,335,211 ราย แผนรวบรวมข้าวเปลือกปีการผลิต 2562/63 ปริมาณ 3,142,676 ตัน"

จำนวนดังกล่าว เป็นการรวบรวมเพื่อจำหน่าย 3,142,676ตัน แบ่งเป็นข้าวขาว 1,457,860 ตันข้าวหอมมะลิ 1,229,754ตันข้าวเหนียว 276,983 ตัน ข้าวอื่น ๆ 178,079ตัน การรวบรวมเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร289,753ตันแบ่งเป็นข้าวขาว 55,903ตัน ข้าวหอมมะลิ 209,467ตันข้าวเหนียว12,860 ตันข้าวอื่นๆ 12,860ตันสำหรับสหกรณ์ที่กู้จาก ธกส.เพื่อนำมารวบรวมข้าวตามโครงการที่เป็นดอกเบี้ยปกติไปแล้ว จะได้รับการปรับลดดอกเบี้ยตามมาตรการสินเชื่อรวบรวมข้าว โดยย้อนหลังให้ถึงวันที่1พ.ย.2562

 

สำหรับผลการรวบรวมข้าวเปลือกของสหกรณ์ ณวันที่ 18 พ.ย.2562มีสหกรณ์เปิดจุดรวบรวมข้าวเปลือกจำนวน314 แห่ง ใน 49 จังหวัด จำนวน 726,617 ตัน หรือ21.16% ของแผน มูลค่ารวม 7,671 ล้านบาทสำหรับผลการรวบรวมเฉพาะข้าวหอมมะลิขณะนี้ดำเนินการแล้ว436,874ตัน มูลค่า5,469ล้านบาท แบ่งเป็นภาคเหนือ133,802ตัน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ303,072ตันซึ่งเมื่อทั้ง 3 มาตรการผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว สินเชื่อที่ได้รับจะมีส่วนช่วยสนับสนุนทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจรวบรวมข้าวของสหกรณ์มีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถเปิดจุดรับซื้อข้าวได้เต็มศักยภาพของสหกรณ์