‘พลังงาน’ หนุนตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 'อีอีซี'

 ‘พลังงาน’ หนุนตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 'อีอีซี'

“พลังงาน” หนุน“อีอีซี” ตั้ง 6 โรงไฟฟ้ากำจัดขยะในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกพร้อมดันรับซื้อไฟผ่านโควตาใหม่ 400 เมกะวัตต์ ตามแผนเออีดีพี 2018 เร่งเข้าระบบปี 2565

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงพลังงาน ยังไม่ได้รับนโยบายจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางจัดการขยะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มีเป้าหมายจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะเพิ่ม 5-6 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ทั้งนี้ หากได้รับนโยบายแล้ว ทางกระทรวงพลังงาน ก็พร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่อีอีซี ถือเป็นพื้นที่รองรับขยายการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งขยะ ยังถือเป็นปัญหาทางด้านมลภาวะที่ต้องเร่งกำจัดอย่างถูกวิธี

ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ และตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP 2018) ที่ขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากขยะอีก 400 เมกะวัตต์ จากแผนเดิม 500 เมกะวัตต์ ก็สามารถนำโควตาในส่วนนี้ มาเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะจากอีอีซีได้

“เรื่องการรับซื้อไฟฟ้าขยะในพื้นที่อีอีซีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะกรรมการใน กพอ. ได้รับทราบนโยบายแล้ว และน่าจะมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ในฐานะหน่วยงานที่อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี2561-2580 (AEDP 2018) เป็นผู้จัดทำรายละเอียดต่อไป”

อย่างไรก็ตาม การจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะนั้น จะต้องเป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย และเสนอโครงการฯมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อมอบนโยบายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกประกาศรับซื้อต่อไป

รับซื้อขยะรอบใหม่ไตรมาส2ปีหน้า

โดยคาดว่า ความชัดเจนในการประกาศโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะรอบใหม่ จะสามารถดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้าเป็นต้นไป หลังจากจัดทำ 5 แผนพลังงานแล้วเสร็จ คือ แผนPDP 2018(ฉบับปรับปรุงใหม่) ,แผนAEDP , แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ซึ่งกระทรวงพลังงาน คาดว่า ทั้ง 5 แผนจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1 ปี2563

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนรอบใหม่ ก่อนหน้านี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้นโยบายในเบื้องต้นว่า ควรพิจารณาอัตราไม่ให้สูงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้ารวมของประเทศ ขณะที่ความพร้อมของสายส่งไฟฟ้า ที่จะรองรับการรับซื้อไฟฟ้าขยะ จากพื้นที่อีอีซีนั้น ก็ต้องไปดูศักยภาพในพื้นที่อีกครั้ง เพราะปัจจุบันพื้นที่ภาคตะวันออก ถือว่าโอเวอร์ซัพพลายไฟฟ้า

นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายโรงงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวว่า บริษัท เห็นด้วยกับนโยบายภาครัฐที่จะส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในพื้นที่อีอีซี เพื่อกำจัดขยะในพื้นที่เมืองใหม่ และจากที่เคยศึกษาพบว่า ในอีอีซี มีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากขยะได้ถึง 50 เมกะวัตต์ ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ภาครัฐจะเลือกใช้วิธีจำเพาะเจาะจงให้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซีบริษัทในเครือ ปตท. ที่เป็นผู้จัดทำต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะในอีอีซี อยู่แล้ว เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด หรือ จะใช้วิธีเปิดประมูลให้ภาคเอกชนรายอื่นเข้าไปแข่งขัน

157459862719