35 ปี บทเรียน 'ค่าเงินแข็ง' จาก 'ญี่ปุ่น' ถึง 'ไทย'

35 ปี บทเรียน 'ค่าเงินแข็ง' จาก 'ญี่ปุ่น' ถึง 'ไทย'

ย้อนรอยบทเรียน "ค่าเงินแข็ง" จากที่เกิดขึ้นใน "ญี่ปุ่น" เมื่อ 35 ปีที่แล้ว สู่สถานการณ์เงินบาทแข็งที่ "ไทย" กำลังเผชิญอยู่

ค่าเงินบาทแข็งในปัจจุบันที่ราว 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าแข็งค่ากว่าประเทศอื่น ในภูมิภาค สะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหลากหลายมิติ

การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทส่งผลกระทบกับแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกันออกไป โดยมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ในเวลาเดียวกัน

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย อธิบายว่า สำหรับกลุ่ม "ผู้ได้รับประโยชน์" จากค่าเงินบาทแข็ง ได้แก่ ประชาชนในประเทศที่มีโอกาสเข้าถึงสินค้าและบริการในประเทศได้ในราคาที่ต่ำลง ผู้นำเข้าสามารถนำเข้าสินค้าได้ราคาที่ถูกลง ผู้ที่เป็นหนี้กับต่างประเทศมีภาระหนี้ลดลง และกลุ่มผู้ลงทุนจะเป็นโอกาสในการนำเข้าเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง เพราะต้นทุนน้อยลง

ในทางตรงกันข้าม เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า จะมี "ผู้ที่เสียประโยชน์" เนื่องจากสามารถนำรายได้ที่เป็นสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทในสัดส่วนที่น้อยลงตามอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มคนที่ทำงานในต่างประเทศ และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่รับเงินเป็นเงินสกุลต่างประเทศ

ปัญญา จรรยารุ่งโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม และอดีต Head of Markets and Treasurer at HSBC & Citibank กล่าวในงานเสวนากลุ่มย่อยของ Wealth Management System โดยอธิบายถึงปรากฏการณ์ค่าเงินแข็งให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่า

“ค่าเงินที่แข็ง มีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ มนุษย์เงินเดือนที่ยังมีงานทำถือเป็นผู้ชนะ และจะมีมนุษย์เงินเดือนที่ตกงาน เพราะการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น”

เนื่องจากปัจจุบันในภาคของการผลิต มีการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงาน แม้จะจำเป็นและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ แต่รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลเรื่องคุณภาพในการทำงานเหล่านี้ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับแรงงานในประเทศไทย หรือส่งกระทบในมิติอื่น

แม้ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจะมีข้อดีต่อบางอุตสาหกรรม แต่นี่อาจไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเศรษฐกิจของประเทศในภาพใหญ่นัก หากเปรียบสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งในครั้งนี้จากบทเรียนที่ผ่านมา

157458201076 ภาพ : pixabay

  • บทเรียนที่ไทยควรเรียนรู้ ก่อนซ้ำรอยญี่ปุ่น

"สถานการณ์ค่าเงินที่เหมาะสมมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ความผันผวนเกิดขึ้นได้เสมอ ฉะนั้นเราต้องรู้ทัน เข้าใจปัญหา วางกลยุทธ์และนโยบายให้เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ"

ปัญญา เล่าถึงบทเรียนจากญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นปี 2528 หรือ เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ค่าเงินเยนแข็งเกินความเหมาะสมของพื้นฐาน และภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี เงินเยนแข็งค่าขึ้น 3 เท่า ซึ่งหมายความว่าญี่ปุ่นเสียเปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ถึง 3 เท่าด้วยเช่นกัน

ตามทฤษฎีมีแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยการลดต้นทุนในการผลิต ลดค่าใช้จ่าย ลดเงินเดือน ลดอัตรากำลัง แต่ในทางปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ทำได้ค่อนข้างยาก สถานการณ์นี้ทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถผลิตแข่งขันได้ และหาทางออกด้วยการผันตัวเองจากการเป็นประเทศผู้ผลิตเป็นประเทศที่เน้นการลงทุนแทน

ในช่วงนั้นญี่ปุ่นเลือก "ประเทศไทย" เป็นเป้าหมายในการลงทุน เนื่องจากช่วงนั้นไทยลดค่าเงินบาทมาอยู่ในจุดที่เหมาะสม ค่าแรงไม่แพง ประกอบกับรัฐบาลไทยได้พัฒนาท่าเรือน้ำลึก สามารถขนสินค้าไปขายยังพื้นที่ต่าง ได้ทั่วโลก ทำให้ไทยได้อานิสงส์จากการปรับค่าเงินบาทในตอนนั้น

ขณะเดียวกัน การลดการผลิตของญี่ปุ่นในครั้งนั้น ทำให้การจ้างงานในญี่ปุ่นลดลงไปด้วย และส่งผลให้เศรษฐกิจสะดุดลง

บทเรียนเงินเยนแข็งค่า เมื่อ 35 ปีก่อน ตอกย้ำว่าการที่ค่าเงินแข็งกว่าปัจจัยพื้นฐาน เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ

157458237559 ภาพ : pixabay

เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบัน พบว่า แข็งค่ากว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีโอกาสตกอยู่ในสภาวะเดียวกันญี่ปุ่นเมื่อ 35 ปีก่อน หากนโยบายทางการเงินไม่เหมาะสม

เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศที่เน้นการลงทุนมากกว่าการผลิต เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่ค่าเงินถูกกว่า ค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ซึ่งกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนของธุรกิจจากประเทศไทย คือกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ส่งผลให้ประเทศไทยมีการจ้างลดลง เศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าที่ควร เติบโตช้า หรือสะดุด

ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งปัญหานี้เกิดขึ้นนานขึ้น จะค่อย ซึมสู่รากของเศรษฐกิจไปเรื่อย ซึ่งไม่ใช่ผลดี

“การรู้สึกชินกับการเติบโตช้า ไม่ได้หมายความว่ามันดีแล้ว เหมือนกับการต้มกบ เวลาทุกอย่างสงบเราจะประมาท ไม่สนใจสัญญาณเตือน ไม่พยายามจะแก้ไข ในที่สุดเลือดจะไหลออกจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตจนแคระแกร็น” ปัญญา กล่าว

157458291891
ภาพ : pixabay

บทเรียนจากญี่ปุ่นที่กล่าวมาในครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนว่าการที่เงินบาทแข็งค่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ หนทางแก้ไขคือ รัฐนาวาต้องรู้แจ้งรู้ทันเข้าใจปัญหา ใช้คนที่มีความสามารถ มีความรู้ ความเข้าใจ ซื่อสัตย์ เพื่อนำมารัฐนาวานี้ผ่านพ้นไป

โดยเริ่มจากการทำให้เกิดความร่วมมือกันทุกส่วนในสังคม ภาครัฐฯ จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานที่ดีให้เอกชน ส่งเสริมการแข่งขัน ขจัดอุปสรรคในการทำธุรกิจ ขณะที่เอกชนเองก็จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพตัวเอง สร้างมูลค่าเพิ่มโดยไม่เอาเปรียบส่วนต่าง ที่ธุรกิจเกี่ยวข้อง ธุรกิจต่าง ต้องให้มูลค่าเพิ่มแก่พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อม และดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน