บูรณาการ Big Data ช่วยเด็กยากจน 1.7 ล้าน

บูรณาการ Big Data ช่วยเด็กยากจน 1.7 ล้าน

ก.คลัง พร้อมจับมือ กสศ.บูรณาการ Big Data เด็กยากจน 1.7 ล้าน ไม่ให้ใครตกหล่น เดินหน้านโยบายลดความเหลื่อมล้ำร่วมกัน มุ่งช่วยตรงปัญหาทั้งพ่อแม่ลูก ตัดวงจรยากจนข้ามชั่วคน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมนาหัวข้อ "ก้าวต่อไปของการช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ" ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ.ได้เชิญกระทรวงการคลังไปให้ข้อเสนอแนะเรื่องการดำเนินการช่วยเหลือเด็กยากจนมาโดยตลอด และได้มีการหารือร่วมกัน โดยเฉพาะแนวทางการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยจำนวน 14.6 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้ราว 10.8 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจนคือระหว่าง และในจำนวนนี้ ราว 1.2 ล้านคนได้มาลงทะเบียนระบุว่ามีบุตร

โดยจำนวนประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เป็นบุตรของพ่อแม่ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนกลุ่มนี้ มีอยู่ประมาณ 1.7 ล้านคน กระจายตัวอยู่ในกลุ่มครอบครัว ดังนี้ 1.กลุ่ม A รายได้ครอบครัว 0-10,000 บาทต่อปี มีจำนวน 888,000 คน 2.กลุ่ม B รายได้ครอบครัว 10,001-20,000 บาทต่อปี มีจำนวน 360, 000 คน และ 3.กลุ่ม C รายได้ครอบครัว 20,001-30,000 บาทต่อปี มีจำนวน 450,000 คน

“ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีข้อมูลพ่อแม่ และชื่อ ที่อยู่ของเด็กทั้งหมด ในอนาคต เมื่อหารือกับท่านปลัดกระทรวงการคลัง และมีการMOUร่วมกันระหว่าง ก.คลังและกสศ. ก็สามารถนำข้อมูลกระทรวงการคลังไปศึกษาวิเคราะห์ ออกนโยบายลดความเหลื่อมล้ำร่วมกัน จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองหน่วยงาน"ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ทางกสศ.จะได้ชื่อของพ่อแม่ของเด็กๆที่ยากจนในทุกพื้นที่ กสศ.ที่ช่วยเหลือ ซึ่งอาจเกิดการตกหล่น ถ้าเอารายชื่อก.คลัง ไปเทียบตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง กสศ.สามารถเดินเคาะประตูบ้าน ถึงตัวเด็กได้จริง เราอยากช่วยให้สวัสดิการที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านหน่วยงานต่างๆ ไปถึงพ่อแม่ของเด็กยากจนจริงๆ เพื่ออานิสงค์จะไปถึงลูกของคนกลุ่มนี้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงเป็นการขจัดความยากจนไม่ให้ส่งต่อไปถึงรุ่นลุกรุ่นหลานอีกด้วย 

นายพงศ์นคร กล่าวว่า เด็กที่ยากจนก็เพราะพ่อแม่จน และมาจากสาเหตุมากกมาย เช่น ไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีงานทำ บางคนพิการ รวมถึงความแตกต่างของพื้นที่ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้สาเหตุความยากจนต่างกันด้วย เช่น หากพ่อแม่อยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาจเกิดจากไม่มีที่ดินทำกิน ขณะที่ พ่อแม่ที่อยู่จังหวัดปัตตานีอาจเป็นเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ ทั้งสองครอบครัวนี้ก็ต้องได้รับการช่วยเหลือที่แตกต่างกัน โครงการสวัสดิการของรัฐต่างๆ ก็มุ่งเน้นมาตรการที่เน้น Tailor-made มากขึ้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ทาง กสศ. จะเข้าพบปลัดกระทรวงศึกษาการคลังและผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจการคลัง เพื่อขยายผลความร่วมมือการทำงานด้านฐานข้อมูล ทั้งในส่วนฐานข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 7 แสน คนจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางกาศึกษาของ กสศ. และฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยของก.คลัง

เมื่อข้อมูลของทั้งสองหน่วยงานเชื่อมต่อกันจะสามารถติดตามและตรวจสอบความถูกต้อง ได้ตลอดวงจรความช่วยเหลือ ทั้งครอบครัว พ่อแม่ลูก เช่น เราเคยพบกรณีที่ครูในโครงการทุนเสมอภาคของ กสศ. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและพบครัวเรือนยากจนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐอันเนื่องมาจากไม่มีค่าเดินทางไปที่ธนาคารในตัวเมือง

ทาง กสศ. ก็พร้อมที่จะส่งข้อมูลให้แก่กระทรวงการคลังเพื่อไม่ให้มีเด็กคนใดตกหล่นแม้แต่คนเดียว เรื่องนี้เป็นก้าวสำคัญของการจับมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อช่วยกันหยุดความยากจนข้ามชั่วคน ไม่ให้ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน นอกจากนั้น กสศ. ยังสนใจที่จะร่วมทำงานด้านข้อมูลกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยเฉพาะการใช้ Big Data ของทั้ง 2 หน่วยงานมาบูรณาการปรับปรุงมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น

ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ตั้งใจจะทำงานคือร่วมมือกับภาคีให้มากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการทำงานวิจัยที่มีความลุ่มลึกมากขึ้น การจัดสรรความช่วยเหลือไปถึงมือเด็กไม่ใช่เป็นจุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

ซึ่งมีมิติหลายอย่างไม่ใช่แค่โจทย์เฉพาะทางเศรษฐศาสตร์ ยังจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมถึงความร่วมมือ องค์การสหประชาชาติ องค์การยูเนสโก และ ศูนย์วิจัย J-PAL แห่งมหาวิทยาลัย MIT เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านการประเมินผลโครงการด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อนำกลับมาปรับปรุงการทำงานของ กสศ. ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในอนาคต.