จากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สู่แฟชั่นสำนึกคนรักษ์โลก

จากแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สู่แฟชั่นสำนึกคนรักษ์โลก

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่เพียงแค่หลักคิดของธุรกิจ แต่จะต้องเปลี่ยนตลาดโดยผู้บริโภคมีส่วนร่วมมือใช้พลาสติกอย่างมีจิตสำนึก นำกลับมาใช้ใหม่เป็นหนึ่งในวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ จะกลายเป็นสินค้าและคุณค่าให้กับแบรนด์

ปัญหาขยะล้นโลก โดยปีที่ผ่านมาไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่มีปริมาณขยะทะเลสูงสุดในปริมาณถึง 2 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นขยะที่นำมารีไซเคิลเพียง 30% 

ในยุคที่พลาสติกกลายเป็นผู้ร้ายทำลายโลก กลุ่มผู้ผลิตพลาสติกต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ โดยมีพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ระดมภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันเสวนาและเวิร์คช็อปในหัวข้อ “Circular Economy of the South” เพื่อแลกเปลี่ยนการนำนวัตกรรมรีไซเคิลมาใช้ในภาคใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการงาน “Sustainable Brand : SB’19 Oceans and Beyond” ที่จ.ชุมพร

โสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้จัดการฝ่าย Corporate Communication and Branding บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี เล่าว่า  GC ต้องการก้าวสู่ผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล พร้อมกับมีส่วนสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น รวมไปถึงนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ เป็นทางรอดแทนเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่ส่งผลให้ทรัพยากรเริ่มมีจำกัด 

ดังนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม จึงอยู่ในกระบวนการดำเนินธุรกิจจากมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นภาคธุรกิจ (B2B) จึงต้องเชื่อมต่อกับผู้บริโภค

โดยแผนการดำเนินธุรกิจยั่งยืนของ GC ครอบคลุมตั้งแต่ 1.การพัฒนาภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพ 2.แสวงหาธุรกิจใหม่ให้เติบโต เช่น การต่อยอดด้านวัตถุดิบผ่านการเข้าควบคุมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) และ3.การหมุนเวียนวัตถุดิบมาใช้ ผ่านโครงการพลาสติกรีไซเคิล ส่งผลทำให้ GC ได้รับการจัดอันดับจาก DJSI ให้เป็นอันดับ 1 ด้านการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2562

157456837975

หนึ่งในโครงการที่นำขยะหมุนเวียนมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเป็นสินค้า เริ่มตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมา(ปี 2560) โดยร่วมมือกับพันธมิตร ผ่านโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมถึงชุมชนประมงและชุมชนชายฝั่งเก็บขยะในแหล่งท่องเที่ยว เปลี่ยนขยะจากท้องทะเลให้มีคุณค่าหรือ Upcycling

เริ่มต้นจากกเกาะเสม็ด เพราะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานของ GC จึงมีความพร้อมในการระดมสรรพกำลังในการส่งเสริม สนับสนุน ติดตามผลได้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง หลังจากนั้นจึงมีพันธมิตรที่พัฒนาเกี่ยวกับ เส้นใย ก่อนผลิตเป็นสินค้าแฟชั่นหลากหลายประเภท

ทั้งนี้มีดีไซน์เนอร์ระดับโลก ฮาเวียร์ โกเยนิเซ่ (Javier Goyeneche) ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิ อีโคอัลฟ์ ดีไซน์เนอร์ชาวสเปน ผู้พลิกวงการแฟชั่นจากขยะจนเป็นแบรนด์ Ecoalf ที่ได้รับการยอมรับในวงการแฟชั่นของโลก เข้ามาช่วยถ่ายทอดกระบวนการผลักดันให้ประสบความสำเร็จไปพร้อมกันกับ ช่วยออกแบบสินค้าขยะจากท้องทะเลภายใต้แบรนด์ “Upcycling by GC” ขณะนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี วัดจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสัดส่วนของขยะรีไซเคิล 20-30% ที่สามารถใส่ได้จริงในราคาเทียบเท่ากับท้องตลาดทั่วไป อาทิ เสื้อยืดทำจากขวดพลาสติกใสในราคา 299 บาท หรือ กระเป๋าเป้ ในราคา 899 บาท

“หลังจากทำงานร่วมกับชุมชนทำให้เกิด เสม็ด โมเดล” ความร่วมมือจากผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวบนเกาะ มีความตื่นตัวจนขยายไปยังประมงท้องถิ่น เป็นจุดเริ่มต้นของการมองเห็นปัญหาและร่วมแก้ไขปัญหาจากต้นเหตุ จากการเริ่มต้น 3 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายเติบโต จนในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มาจากขยะรีไซเคิลอีกหลายประเภท แนวทางหนึ่งช่วยให้ผู้บริโภคเริ่มต้นตระหนักถึงการใช้พลาสติกและการบริหารจัดการขยะ จะเริ่มขยายการรับรู้เพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ GC ยังพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพให้มีคุณภาพที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและเทรนด์โลก ควบคู่กับการเปิดตัวฉลากที่ยืนยันผลิตภัณฑ์จากเม็ดพลาสติกชีวภาพ ( GC Compostable Label )ที่ GC รับรอง สามารถสลายตัวได้ภายใน 6-24 เดือนตามสภาวะที่เหมาะสม

157456840638

**ฮาเฮียร์ โกเยนิเซ่**

ด้าน ฮาเฮียร์ โกเยนิเซ่ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิอีโคอัลฟ์ กล่าวในเวทีเสวนาว่า โลกนี้มีธุรกิจมากมายที่สร้างคุณค่าให้กับโลก โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นค้นหาโมเดลธุรกิจใหม่ ที่ทำให้เกิดการเพิ่มการใช้ทรัพยากร แต่ควรคิดหาทางใช้ทรัพยากรเดิมมาหมุนเวียนการใช้ให้คุ้มค่า ด้วยการนำไอเดียสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้โลกน่าอยู่ขึ้น

ความท้าทายคือการค้นหาขยะที่มีคุณภาพ เพื่อนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาผลิตสินค้า ซึ่งถือว่ามีจำกัด ดังนั้นจึงต้องทำงานร่วมกันกับพันธมิตรองค์กร และชุมชนเพื่อที่จะคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ โดยการคัดแยกขยะที่นำมาผลิตเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพ

“แนวคิดที่การทำสิ่งเก่าให้ดีขึ้น โดยการนำขยะมาผลิตเป็นสินค้าแฟชั่นใหม่ ในแบรนด์ Ecoalf จึงเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของการผลิตสินค้าใหม่จากวัตถุดิบเดิมให้มีคุณภาพดีเทียบเท่าของเดิม ภายใต้การออกแบบที่ดีที่สุด แม้ในปัจจุบันยังไม่สามารถเปลี่ยนขยะที่บริสุทธ์ มีคุณภาพ ขยะยังมีการปลอมปน แต่การมุ่งมั่นทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะเป็นการริเริ่มค้นหาแนวทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้”

สิ่งสำคัญคือการสร้างความตะหนักรู้จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้เริ่มต้นแยกขยะที่มีคุณภาพ เพื่อส่งต่อให้กับโรงงานการผลิตเส้นใยที่มีคุณภาพ

ฮัดสัน สิริสุวพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Creative Lab Center: CLC) สำนักวิจัย และพัฒนามหาวิยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.หาดใหญ่) กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักมองเรื่อง Circular Economy ในระดับองค์กรหรือระดับสาธารณะ ที่ภาคธุรกิจจะเป็นผู้ขับเคลื่อน แต่ในความเป็นจริงแล้วหากเริ่มต้นจากวิธีคิด (Mindset) ของประชาชนทั่วไปที่มีจิตสำนึก ตระหนักรู้ ถึงปัญหาภาวะโลกร้อน มาจากผู้บริโภคทุกคน จึงต้องเริ่มต้นจากการใส่ใจใช้วัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เช่นตัวเขา ตกแต่งบ้านที่อยู่อาศัย และทำงานโดยนำวัสดุเหลือใช้ออกแบบและจัดวางให้สวยงาม อย่างลงตัว ขยะที่เคยเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่สวยงามในห้อง

“แนวคิดการนำเศษวัสดุนอกจากเริ่มต้นจากผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ชุมชนยังสร้างองค์ความรู้ที่มีพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุท้องถิ่น เช่น กาบกล้วยที่พบได้ทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาประดิษฐ์เป็น Stationary Set / โคมไฟ โดยเพิ่มจะช่วยสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และแบรนด์ มีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศที่สอดคล้องกับเทรนด์ที่ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่สร้างสรรค์จากแนวคิดรักษ์โลกมากขึ้น”