แพทย์แผนไทย‘วัดปลักคล้า’ โรงเรียนเตรียมดูแลผู้สูงวัย

แพทย์แผนไทย‘วัดปลักคล้า’  โรงเรียนเตรียมดูแลผู้สูงวัย

อีกสถานที่ที่รู้จักนำการแพทย์แผนไทยมาประยุกต์ใช้ ซึ่งมีประโยชน์มากมายในการดูแลสุขภาพ

"""""""""""""""""""""

สังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วและจะเป็นโดยสมบูรณ์แบบในปี 2564 ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีที่เราอยู่ในประเทศ “แก่ก่อนรวย” ในฐานะปัจเจกเราจะมีทางเลือกดำรงชีวิตต่อไปอย่างไรในสภาพเช่นนี้ และจะดีหรือไม่ ถ้ามีการจัดการความรู้ที่ตอบโจทย์ในรูปของสถาบันการแพทย์

 

มานพ ประทุมทอง อดีตเอ็นจีโอ วัย 62 ปี ที่วันนี้เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านภาคใต้ ตกผลึกกับคำถามที่ถูกถามอยู่บ่อยครั้ง“แก่แล้วจะอยู่ยังไง ลูกก็ไม่มี” ทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาว่าเราต้องเตรียมตัวที่จะแก่ เตรียมตัวที่จะตาย ผ่านกระบวนการเรียนรู้แพทย์แผนไทย เปิดคลินิก ตั้งโรงเรียน ตอนนี้ฝันไกลไปถึงจะตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยใหญ่สุดของภาคใต้

 

จากคำถามข้างต้น อดีตเอ็นจีโอผู้เชี่ยวชาญด้านชุมชนตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์แผนไทยวัดท่าเคียน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปี 2548 เรียนแล้วจึงทราบว่า ความรู้ชุดนี้ซึ่งเป็นความรู้ชุดสุขภาพในโลกตะวันออกเป็นความรู้ที่สังคมควรมี

 

เมื่อเรียนจบจึงชวนพรรคพวกทำคลินิกสมานคุณการแพทย์แผนไทยที่วัดโคกสมานคุณ อ.หาดใหญ่ เปิดให้บริการวันที่ 23 ก.พ.60 ปีแรกมีคนมาใช้บริการราว 700 คน ถ้านับเป็นจำนวนครั้งประมาณ 2,000 ครั้ง

 

การเปิดคลินิกทำให้เกิดความกระจ่าง “คนเรามีอาการชนิดหนึ่งที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เอาไม่อยู่” นี่คือแนวทางมานุษยวิทยาการแพทย์ ขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันในโรงพยาบาลเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ มานพจึงสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสังคมนี้ต้องการอะไร จากคลินิก เขาฝันไกลถึงขนาดตั้งโรงเรียนแพทย์

 

“เพราะฝันมานานว่าอยากเป็น “ครูใหญ่” ก็เลยทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยเสนอสภาการแพทย์ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนสิงหาคม รับนักศึกษารุ่นที่ 1 จำนวน 30 คน ขณะนี้กำลังเปิดรับรุ่น 2”

 

 การเปิดโรงเรียนนั้นจะต้องใช้พื้นที่กว้างขวาง โชคดีของมานพ ที่พระครูวีระเขมคุณ เจ้าอาวาสวัดปลักคล้า อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา สนใจให้มาทำโรงเรียนที่วัด เมื่อได้ที่ทำโรงเรียนแล้ว มานพก็ฝันต่อ

 

“โดยปกติแล้วคนที่เปิดโรงเรียนแพทย์ต้องมีโรงพยาบาลเป็นของตนเองเพื่อฝึก ถ้าไม่มีโรงพยาบาลก็ลำบาก นักศึกษาไม่รู้จะไปฝึกที่ไหน"

 

 มานพฝันสร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยใหญ่ที่สุดของภาคใต้ที่วัดปลักคล้า ด้วยบทสรุปที่ว่าแพทย์แผนไทยคือสิ่งที่เหมาะสมกับสังคมผู้สูงอายุ ปรัชญาเบื้องหลังคิือ “การป้องกัน รักษา ฟื้นฟู”

 

นอกจากนี้กระบวนการแพทย์แผนไทยถ้าจะทำให้ครบวงจรต้องมีสถาบันเกษตรอินทรีย์ ใช้เกษตรปลอดสารพิษเพื่อนำมาผลิตยาและอาหาร ซึ่งที่วัดปลักคล้ามานพจะทำให้ครบวงจรเพื่อกลายเป็นโมเดลของ “สังคมผู้สูงอายุสายพันธุ์ใหม่”

 

“เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่าในตนเอง ไม่ต้องรอลูกหลาน มีเพื่อนอยู่ด้วยกันสัก 20-30 คน ได้คุยในเรื่องที่ชอบ ไม่ต้องคุยกันทุกคนหรอก ไม่ต้องชอบกันทุกคน ใครคุยกับใครได้ก็คุย แต่มีคุณค่า อยากมาช่วยงานโรงเรียนหรือโรงพยาบาลก็ทำได้ ใครมีความรู้ด้านใดก็มาสอน” นี่คือการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในชุมชนที่มานพวาดหวัง

 

ศูนย์การแพทย์แผนไทยแห่งนี้หัวใจอยู่ที่โรงเรียนและการศึกษา หน้าที่หลักคือเปลี่่ยนชิพคน “ นี่คือโรงเรียนเตรียมดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ โรงเรียนเตรียมตัวตาย”

 

จากมุมมองของคนต้นคิดสู่ลูกศิษย์รุ่นที่ 1 สมคิด รัตนพันธ์ วัย 51 ปี เขาจบการศึกษาด้านฟู้ดซายส์และทำงานในโรงงานทูน่ากระป๋องมาโดยตลอด จากนั้นลาออกมาเลี้ยงลูกเป็นเวลา10 ปีแล้ว ตอนนี้รับงานฟรีแลนซ์เป็นที่ปรึกษาด้านอาหารทะเล ว่างก็ทำนาทำสวน ปลูกข้าว ปลูกยางขาย

 

“สนใจเรียนแพทย์แผนไทย เพราะพื้นเพเป็นเด็กบ้านนอก คุ้นเคยกับสมุนไพรและหมอพื้นบ้านมาก่อนรู้จักวิทยาศาสตร์ เห็นหมอต้มยาหม้อบำรุงสุขภาพสตรีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และการเรียนฟู้ดซายส์ก็ไม่ได้ห่างไกลกัน” สมคิดเผยที่มาที่ไปของการเรียน

 

แต่เมื่อเขาไปจนสุดทางก็รู้ว่า “วิทยาศาสตร์สอนให้เราใช้สารเคมีเพื่อถนอมอาหาร แต่อาจารย์แพทย์แผนไทยสอนให้เราย้อนกลับไปหา Minimal Process ปรุงให้น้อย เน้นกินของสด” สมคิดจึีงกลับมาปลูกพืชในเชิงอนุรักษ์ หลังจากอยู่กับสารเคมีมานาน รู้ว่าคนเราเป็นโรคจากการรับประทานอาหารกันมาก เพราะการแปรรูป

 

การเรียนแพทย์แผนไทยทำให้สมคิด คนที่เคยอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์เปรียบเสมือนคนที่อยู่สองบนปลายเส้นเชือกที่ตรงข้ามกัน

 

“แพทย์แผนไทยมีหลักคิดเหมือนพุทธศาสนา เรายืนอยู่บนชุดความรู้อินเดีย จากที่หมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอประจำพระองค์พระพุทธเจ้าบันทึกไว้ คำอธิบายจึงเป็นแนวพุทธว่าด้วยความสมดุลของดิน น้ำ ลม ไฟในร่างกาย และถ้าจิตใจดี ร่างกายก็ดี นี่ก็คือหลักพุทธธรรมดา ขณะที่ฟู้ดซายส์อธิบายด้วยสมการเคมี”

 

สมคิดสรุปหลักการของตนเองว่า แพทย์แผนปัจจุบันวิเคราะห์ไปจนสุดทางว่าเกิดจากโรคอะไรแล้วให้ยาแก้ปัญหานั้น แต่แพทย์แผนไทยตรวจอย่างองค์รวมแล้วแก้ไขด้วยการปรับสมดุลของร่างกาย แต่สิ่งที่ตรงกันคือ “รักษาหายและปลอดภัย” ด้วยเหตุนี้สมคิดและเพื่อนๆ นักเรียนแพทย์แผนไทยจึงมีสโลแกนประจำใจว่า“อาหารคือยา หมอเทวดาอยู่ในตัวคุณ” หมายความว่าปรัชญาแพทย์แผนไทยสามารถใช้ดูแลตัวเองและแนะนำคนอื่นได้

 

ด้านแพทย์แผนไทยอย่างยะยอ หลำขุน ชาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เล่าถึงเส้นทางชีวิตการเป็นแพทย์แผนไทยว่า เดินตามหลังพ่อเฒ่า (ตา) ซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านมาตั้งแต่อายุ 12-18 ปี (ราว พ.ศ.2510-2518) จากนั้นพ่อเฒ่าไล่ให้ไปหาครูบาอาจารย์ท่านอื่น จนรู้ซึ้งว่า หมอพื้นบ้านแต่ละคนชำนาญไม่เหมือนกัน ต่อมาเขา ต้องขึ้นไปอยู่กรุงเทพฯ ได้เรียนแพทย์แผนจีนกับซินแสจนจบ จึงกลับมาบ้านที่จะนะสวมบทบาทชาวสวนกับหมอพื้นบ้านไปพร้อมๆ กัน

 

ในฐานะผู้มากประสบการณ์ ความแตกต่างระหว่างแพทย์แผนจีนกับแพทย์แผนไทยในทัศนะของยะยอคือ แพทย์แผนไทยต้องจับชีพจร และสอบถามผู้ป่วยว่ามีอาการใด แต่แพทย์แผนจีนคนไข้ไม่ต้องบอกอาการ จับชีพจรปุ๊บก็รู้อาการ ทราบได้ว่าผู้ป่วยมีโรคใดอยู่

 

“ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าแพทย์แผนจีนเก่งกว่า แต่เป็นเพราะองค์ความรู้แพทย์แผนไทย100 เปอร์เซ็นต์ ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ยังเรียนรู้กันได้แค่ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์” ยะยออธิบายเหตุผลความแตกต่าง