ธปท.ห่วง ‘บาทแข็ง’ เกินพื้นฐาน แนะธุรกิจเร่งวางแผนรับมือผันผวน

ธปท.ห่วง ‘บาทแข็ง’ เกินพื้นฐาน แนะธุรกิจเร่งวางแผนรับมือผันผวน

“แบงก์ชาติ” ยอมรับเงินบาทแข็งสุดในภูมิภาค ทั้งยังแข็งค่าเกินพื้นฐานเศรษฐกิจ เตือนเอกชนเร่งปรับตัวรับความผันผวน พร้อมกำชับแบงก์ติดตามพฤติกรรมนักลงทุนต่างชาติใกล้ชิด ยอมรับประสิทธิผลนโยบายการเงินน้อยลง เหตุดอกเบี้ยต่ำ ไม่สามารถอัดยาแรงได้เหมือนอดีต

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)  กล่าวยอมรับว่า ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง และถือเป็นการแข็งค่าที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานหรือโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ในระยะข้างหน้า ธปท. เชื่อว่า ค่าเงินบาทจะยังมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ทำยังไงให้ภาคเอกชนสามารถบริหารความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเท่าทัน โดยที่ภาคธุรกิจต้องเข้าใจและมีการวางแผนความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

“คนมักจะมีภาพลวงตา ว่าอัตราแลกเปลี่ยน จะคาดเดาได้ กำหนดทิศทางได้ หรือที่เห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่คาดว่าค่าเงินบาทจะหลุดต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลาร์ ลงไปที่ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ สิ่งเหล่านี้ สามารถเด้งกลับขึ้นได้ตลอดเวลา ตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในต่างประเทศ โดยเฉพาะยิ่งค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศอื่นๆแล้ว และห่างกับปัจจัยพื้นฐานไปมาก และอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่วันเวย์ ไม่ใช่การเปลี่ยนในทิศทางเดียวเสมอไป ดังนั้นทำอย่างไรให้ภาคเอกชนจะบริหารความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเท่าทัน และตั้งการ์ดที่จะรองรับได้ และภายใต้โลกที่สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ระดับสูง ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนจะเพิ่มขึ้นสูงมาก”

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า การแข็งค่าของเงินบาทเป็นสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กังวล และให้มีการติดตามค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงที่ปัจจัยต่างประเทศมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเร็ว รวมถึงช่วงปลายปีที่มีธุรกรรมที่อาจมากกว่าปกติ ที่สถาบันการเงินติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และได้กำชับให้สถาบันการเงิน โดยเฉพาะแบงก์ที่มีธุรกรรมกับผู้ที่มีถิ่นฐานนอกประเทศมากๆ ต้องปฏิบัติตามกฏเกณฑ์โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะใครก็ตามที่เก็งกำไรเพิ่มมากขึ้น และนำเงินมาพักไว้ในไทยระยะสั้นๆ

ชี้ไทยไม่เหมาะดอกเบี้ยติดลบ

นอกจากนี้ นายวิรไท ยังกล่าวถึงประสิทธิภาพของนโยบายการเงินด้วยว่า ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของธปท. เชื่อว่า นโยบายการเงินมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะหากดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 1.25% ถือเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และยังเป็นประดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค ทำให้ประสิทธิภาพในการทำนโยบายลดลงเมื่อเทียบกับอดีต หากเทียบกับตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 ขณะนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลดลงจากระดับ 3% มาอยู่ที่ 1.25% ซึ่งถือเป็นการอัดฉีดยาแรง แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 1.25% จึงไม่สามารถใช้ยาแรงได้เหมือนเดิม เพราะดอกเบี้ยนโยบายคงไม่สามารถลดลงไปมากๆ ได้ และประเทศไทยไม่เหมาะที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบ

“เชื่อว่าไม่ได้อยู่ในภาวะที่ควรทำ เพราะจะสร้างปัญหาด้านเสถียรภาพตามมาในอนาคตมาก”

สำหรับการพิจารณาด้านการดำเนินนโยบายการเงิน กนง. ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ(Inflation targeting) เป็นเป้าหมายหลัก ในการดำเนินนโยบายการเงิน ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้ออาจไม่ใช่ความเสี่ยงที่รุนแรงมากเหมือนเดิม แต่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นต้องช่างน้ำหนักระหว่างสองเรื่องให้ดี เพราะทุกนโยบายไม่มีฟรี ทุกนโยบายมีต้นทุน 

ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีกลไก มีกรอบการพิจารณาที่ชัดเจน และเอาด้านเสถียรภาพระบบการเงิน มาอยู่ในกรอบการพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ได้ดีขึ้น เพราะการสื่อสารสำคัญมาก โดยการทำนโยบายก็เพื่อให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม แบงก์เปลี่ยนพฤติกรรม ภาคธุรกิจมีการเปลี่ยนพฤติกรรม เพระหากไม่เกิดการเเปลี่ยน นโยบายที่ใช้ก็อาจไม่เกิดผล ดังนั้นนโยบายที่ออกไป สิ่งที่สำคัญสุด คือความเข้าใจนโยบายอย่างเหมาะสม

“การทำนโยบายการเงิน เราประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะกับมุมมองความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ จะเห็นว่าที่ผ่านมากนง.ปรับลดดอกเบี้ยแล้ว 2ครั้ง เนื่องจากไม่เป็นไปตามตัวเลขเศรษฐกิจที่คาดการณ์เอาไว้  ดังนั้น ในอนาคต ธปท.ก็ปรับนโยบายการเงินที่เหมาะสม สำหรับเศรษฐกิจข้างหน้าด้วย หากไม่เป็นไปตามที่ที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ต้องช่างน้ำหนักให้ดีว่า การตัดสินนโยบายการเงิน จะใช้เป็นการพยุงเศรษฐกิจไทยระยะสั้น หรือรักษาขีดความสามารถการดำเนินนโยบายในระยะข้างหน้า”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย จีดีพีไตรมาส 3ที่ออกมาต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้นธปท.เตรียมปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมที่คาดไว้ 2.8% จากสภาวะการกีดกันทางการค้า ที่ส่งผลกระทบมาสู่ไทย และทั่วโลก แต่คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวดีกว่าปีนี้ จาก การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ ที่จะเข้ามาได้ในปีหน้า ที่จะเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจ และจากผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้เห็นภาคเอกชน ย้ายฐานการผลิตมาไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอีอีซี ที่จะหนุนการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นคาดว่า การส่งออก และการผลิตปีหน้าน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้

ย้ำหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาใหญ่

สำหรับการวัดแผนยุทธ์ศาสตร์ของธปท. 3ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560-2562 ที่ผ่านมา ยอมรับว่า มีหลายเรื่องที่ถือว่าไม่เป็นไปดั่งใจที่ธปท.คาดไว้ เช่น เคยตั้งเป้าหมายที่จะช่วยภาคเอกชนไทย ให้สามารถปรับตัว เท่าทันกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น แม้ธปท.จะมีการทำหลายเรื่องที่เกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ ก็ยังเห็นผู้ประกอบการ ที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนดี

ขณะเดียวกัน อีกด้านที่ธปท.ยังทำได้ไม่ดี และยังไม่สบายใจ คือการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบริการทางการเงิน และการเข้าถึงบริการทางการเงินของเอสเอ็มอียังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นต้องหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไปในระยะถัดไป

เช่นเดียวกันกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ เป็นจุดเปราะบางสำหรับระบบการเงินไทยอยู่ หนี้ครัวเรือนมาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากวิธีการทำธุรกิจของสถาบันการเงิน ที่นำไปสู่หนี้ครัวเรือนมากขึ้น ทำให้ธปท.ต้องออกกฏกเกณฑ์มากำกับดูแลทั้งเครดิตการ์ด สินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แต่การคุมสิ่งเหล่านี้เมื่อไปคุมโปรดักส์หนึ่ง ปัญหาก็จะไปเพิ่มอีกจุดหนึ่งดังนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องดูแลความเสี่ยงต่างๆที่เพิ่มมากขึ้น

ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. กล่าวว่า ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท. ไม่ได้ตั้งธง ไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยจะลงต่ำกว่าระดับปัจจุบันไม่ได้ เพราะหลักการพิจารณาของธปท. ต้องดูหลักตามตัวเลขเศรษฐกิจ(data dependent) ดังนั้นหากสถานการณ์เปลี่ยน นโยบายก็พร้อมปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกันได้

ทั้งนี้ ยอมรับว่า อัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่กนง.ได้นำเข้ามาพิจารณา ในการทำนโยบายการเงินอยู่แล้ว เพราะอัตราแลกเปลี่ยน มีความเชื่อมโยงกับทั้งเรื่อง เงินเฟ้อ การเจริญเติบโตตามศักยภาพที่ยั่งยืน เสถียรภาพทางการเงิน

ส่วนข้อจำกัดนโยบายการเงิน หากดูขีดความสามารถการดำเนินนโยบายการเงิน(Policy Space) ที่เหลือน้อยลง ธปท.ก็คิดว่า น่าจะต้องสร้างเครือ่งมืออื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินนโบบายการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และหาวิธีที่จะสร้างประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินไปสุ่ภาคเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ใช่แค่ส่งผ่านไปสู่ระบบสถาบันการเงินเท่านั้น และอาจส่งผ่านสู่ผู้เล่นใหม่ๆหรือ การส่งผ่านไปสู่ตลาดการเงินอื่นๆที่สามารถทำได้ ซี่งเหล่านี้อยู่ในแผนที่กำลังจะทำเพิ่มเติมด้วย

157452856849