ปัญหาโครงสร้างถล่มป้องกันได้

จากเหตุการณ์อาคารที่กำลังก่อสร้างที่ จ.ภูเก็ตพังถล่มลงมา ทับคนงานเสียชีวิตคาที่ 7 ศพ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นอีกโศกนาฏกรรมที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุการณ์ตึกถล่มเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในอดีต

ย้อนกลับ 25 ปีที่แล้วในปี 2536 โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาพังถล่ม มีผู้เสียชีวิตถึง 137 คน ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปี 2557 เกิดเหตุอาคาร 6 ชั้นย่านคลอง 6 พังถล่มระหว่างก่อสร้าง มีผู้เสียชีวิตถึง 14 คน และในปี 2559 เกิดอาคารสนามฝึกกีฬาที่ จ.กระบี่พังถล่มขณะก่อสร้าง มีคนงานเสียชีวิต 5 คน

สำหรับเหตุการณ์อาคารถล่มที่ จ.ภูเก็ตนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากลักษณะการพังถล่มของโครงสร้างอาคาร เห็นแผ่นพื้นพังทับลงมาบนพื้นดิน ทับคนงานเสียชีวิต แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างเสาที่ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ปัญหาอาคารถล่มเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากในแต่ละคราว ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุเช่น
1. การต่อเติมอาคารไม่ถูกวิธี
2. โครงสร้างสำคัญเช่น เสา คาน มีขนาดเล็กเกินไป
3. ฐานรากวิบัติเนื่องจากไม่สามารถรองรับน้ำหนักโครงสร้างได้
4. นั่งร้านค้ำยันไม่มี หรือ มีไม่พอในระหว่างก่อสร้าง
5. การก่อสร้างที่ลัดขั้นตอน
6. ภัยธรรมชาติ เช่น ลมพายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม

จากสาเหตุเหล่านี้พบว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากคนเป็นส่วนใหญ่ และจากสถิติการพังถล่มของโครงสร้างที่ผ่านมาในอดีตพบว่า มักเกิดจากการต่อเติมอาคาร และ ก่อสร้างที่ไม่ถูกวิธี หรือไม่มีค้ำยันรองรับน้ำหนักโครงสร้างระหว่างก่อสร้าง

เพื่อป้องกันปัญหาโครงสร้างถล่มในอนาคต ทุกฝ่ายควรเร่งดำเนินการตามมาตรการดังต่อไปนี้

1. การจัดให้มีนั่งร้านรองรับน้ำหนักโครงสร้างระหว่างการก่อสร้าง ในบางโครงการพบว่านั่งร้านรับน้ำหนักไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องการประหยัดงบก่อสร้าง แต่กลับกลายเป็นหายนะอย่างร้ายแรง หลายๆกรณีในอดีต หากมีนั่งร้านรองรับน้ำหนักเพียงพอแล้ว โครงสร้างอาจจะไม่พังลงมาทับคนงาน ดังนั้นทั้งเจ้าของโครงการและผู้รับจ้าง จะต้องไม่ประหยัดค่าใช้จ่ายนั่งร้านโดยเด็ดขาด

2. การมีวิศวกรกำกับดูแล การก่อสร้างอาคารที่เป็นวิศวกรรมควบคุม เช่นอาคารสาธารณะ อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป พระราชบัญญัติวิศวกรกำหนดให้ต้องมีวิศวกรที่ถือใบอนุญาตมาทำการออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ดังนั้นการจัดหาวิศวกรที่มีใบอนุญาตมากำกับดูแลการก่อสร้าง จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องทางวิชาชีพที่ต้องใช้ผู้ที่ชำนาญโดยเฉพาะ

3. เจ้าหน้าที่รัฐเอาใจใส่ตรวจตรา เจ้าหน้าที่รัฐคือ regulator ที่จะต้องตรวจตรากำกับดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอำนาจ มีอำนาจที่จะอนุญาต และระงับการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามที่ขออนุญาตไว้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะต้องหมั่นตรวจตราการก่อสร้างที่ผิดกฎหมายหรือที่เสี่ยงอันตรายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

4. ประชาชนชี้เบาะแส ประชาชนในพื้นที่มีส่วนอย่างมากที่จะชี้เบาะแสการก่อสร้างที่เสี่ยงอันตราย โดยสังเกตสถานที่ก่อสร้าง เช่น คนงานไม่สวมเครื่องป้องกัน ไม่มีนั่งร้านหรือนั่งร้านดูน้อยผิดปกติ ไม่มีตาข่ายคลุมอาคารหรือแผงป้องกันสิ่งของล่วงหล่น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งบ่งชี้การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานและมีความเสี่ยงให้อาคารถล่มได้