แนวรบใหม่ Banking-as-a-Service       

แนวรบใหม่ Banking-as-a-Service       

เมื่อนโยบาย Open Banking ที่ได้ถูกนำร่องไปแล้วในฝั่งยุโรปและอเมริกา กำลังถูกจับตามองว่าจะคืบคลานเข้ามาในเอเชีย

การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของแบงค์ขนาดใหญ่ก็เริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้น นั่นคือการต้องผันตัวเองไปเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่จะต้องตอบโจทย์โมเดลธุรกิจใหม่ของการให้บริการทางการเงิน

ล่าสุดแบงค์ใหญ่อันดับต้นๆในสหรัฐฯและในยุโรปได้ออกมาประกาศตัวเองแล้วว่า “เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีใบอนุญาติประกอบกิจการแบงค์”  หลักการของ Open Banking เกิดขึ้นจากการที่ภาครัฐออกกฎให้ธนาคารขนาดใหญ่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของลูกค้าให้กับบุคคลที่  3 ผ่าน API เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรภายนอกที่ต้องการออกผลิตภัณฑ์หรือให้บริการทางการเงินสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบเฉพาะรายบุคคลได้อย่างเหมาะสมที่สุดผ่านช่องทาง Online หรือ Mobile Application

สิ่งนี้จะทำให้การเข้าถึงบริการทางการเงินระหว่างลูกค้ากับธนาคารเจ้าของบัญชีเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน นั่นคือลูกค้าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารขนาดใหญ่แต่เพียงช่องทางเดียว ธุรกิจ Fintech รายย่อยหรือธุรกิจอื่นๆที่สนใจที่จะเข้ามานำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินให้กับลูกค้าเช่น ธุรกิจค้าปลีก หรือ Tech Company ที่ให้บริการด้านอื่นๆเช่น เรียกรถแท็กซี่ สั่งอาหาร ก็จะสามารถเข้ามานำเสนอบริการทางการเงินได้ไม่แตกต่างกับแบงค์ ในอังกฤษสตาร์ทอัพ Fintech จับมือกับห้างสรรพสินค้าและออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องมี Traditional Bank หรือธนาคารเป็นตัวกลาง

สิ่งเหล่านี้เป็น “ตัวเร่งที่ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ในสายการเงินการธนาคารจำเป็นที่จะต้องผันตัวเองไปเป็นบริษัทเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาบริการต่าง ๆให้สามารถแข่งขันได้  และปกป้องฐานที่มั่นเดิมในตลาดเพราะไม่เพียงแต่จะต้องแข่งขันกับ Fintech รายเล็กเท่านั้นแต่ยังต้องเตรียมรับแนวรบด้านใหม่เพราะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกส่วนใหญ่ก็กำลังก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจการให้บริการทางการเงินหรือ Financial Services เช่นกัน   

แนวรบใหม่ของการแข่งขันทางด้านการให้บริการทางการเงินกำลังก่อตัวขึ้น “Banking-as-a-Service” (BaaS) คือเทรนด์ที่มาแรงมากในฝั่งยุโรปและอเมริกา BaaS คือรูปแบบของการให้บริการโซลูชั่นและเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ทำให้บริษัทที่ไม่ได้เป็นสถาบันทางการเงินสามารถพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ผ่านระบบของผู้พัฒนา ตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่บุกเบิกการให้บริการ BaaS ก็มีอยู่หลายรายเช่น SolarisBank บริษัท Fintech ที่เรียกตัวเองว่าเป็น Tech Company ที่มีใบอนุญาติการประกอบกิจการทางการเงิน หรือ สตาร์ทอัพอย่าง Bankable ในอังกฤษที่ให้บริการ Payment แบบครบวงจรให้กับองค์กรที่ต้องการหา Digital Banking Solutions ที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้แบบไร้รอยต่อ

นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นหลายรายที่ไม่เพียงแค่ให้บริการ BaaS ให้กับธุรกิจอื่นแต่ยังให้บริการ Retail Banking ของตัวเอง เช่น Green Dot สตาร์ทอัพ Fintech ในสหรัฐฯ ที่ไม่เพียงแค่มีความโดดเด่นเรื่องเทคโนโลยีแต่ยังอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้กับกลุ่ม Non-Bank อย่างเช่น  Walmart และ Uber นอกจากนั้นยังผันตัวเองมาให้บริการ Retail Banking โดยมีข้อเสนอพิเศษ Cash back 3% พร้อม ๆกับดอกเบี้ยเงินฝากให้กับลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่าน Green Dot

การเกิดขึ้นของ Banking-as-a-Service ทำให้เกิดโมเดลการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ และในที่สุดน่าจะนำไปสู่โลกของ Financial Inclusion ที่ทำให้โอกาสทางการเงินเปิดกว้างมากขึ้นโดยสามารถตอบโจทย์คนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มใหม่ไปพร้อม ๆกัน การขยายตัวของ Open Banking ถูกมองว่าเป็น Growing pain เพราะความท้าทายจะถูกผลักกลับไปอยู่ในมือของผู้ควบคุมนโยบายและผู้เล่นเดิม ๆในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Traditional Bank

สมรภูมิการแข่งขันของสถาบันการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน Post Disruption จะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ แต่ที่แน่ ๆก็คือแบงค์ใหญ่ในเอเชียและในประเทศไทยเองก็กำลังปรับตัวกันอย่างเข้มข้นทั้งในเรื่องของการลงทุนเพื่อให้ได้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆเข้ามาอยู่ในพอร์ต เช่นการลงทุนในสตาร์ทอัพในสามกลุ่มใหญ่ คือๆกลุ่ม Payment กลุ่ม Data Analytics และกลุ่ม Exchange/Trading Platform

หรือกระทั่งทำสิ่งที่เรียกว่า Acqui-Hired คือเข้าซื้อกิจการของสตาร์ทอัพเพื่อให้ได้คนเก่งๆเข้ามาอยู่ในองค์กร และสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ที่ไม่ต้องขึ้นตรงกับโครงสร้างการบริหารงานแบบเดิม ผู้บริหารแบงค์ใหญ่รายหนึ่งให้ความเห็นว่า อนาคตของแบงค์คือการเตรียมตัวตั้งรับแนวรบใหม่ที่จะมีคู่แข่งเข้ามาจากทุกทิศทุกทาง การTransform หมายถึงการปรับเปลี่ยนทุกอย่างตั้งแต่โครงสร้างจนถึงวิถีของการทำธุรกิจ เกมนี้ไปไกลกว่าเรื่องของเทคโนโลยีหรือการสร้างนวัตกรรมแล้ว!