เทสโก้ฯชู ‘วิกฤติขยะอาหาร’ วาระแห่งชาติ 'ลด 50%' ปี73

เทสโก้ฯชู ‘วิกฤติขยะอาหาร’ วาระแห่งชาติ 'ลด 50%'  ปี73

หนึ่งในวาระเร่งด่วนของประเทศไทย คือ วิกฤติขยะอาหาร !! พบว่าแต่ละปีเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม จากของเสียสร้างมลพิษ สะสมเชื้อโรค สู่ภาวะโลกร้อนในที่สุด

ค้าปลีกยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ “เทสโก้ โลตัส” หนึ่งในห่วงโซ่อาหาร ประกาศเป้าหมายในการเป็นผู้นำลดขยะอาหาร โดยเริ่มขับเคลื่อนโครงการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจค้าปลีกของตนเองอย่างเป็นรูปธรรมต้นน้ำจรดปลายน้ำตั้งแต่ปี 2560 รวมถึงบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังสามารถรับประทานได้ผ่านโปรเจค กินได้ไม่ทิ้งกัน” พร้อมขยายผลในวงกว้างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง!! 

ล่าสุด วานนี้ (22 พ.ย.) เทสโก้ โลตัส ประกาศความร่วมมือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ หอการค้าไทย ขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยจัดงานประชุมประจำปี 2019 Thailand’s Annual Conference on Food Waste นำเสนอกรอบการทำงาน Target, Measure, Act พร้อมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อาหาร ทั้งภาคการผลิต ธุรกิจจำหน่ายอาหาร ร้านค้าปลีก โรงแรม ภัตตาคาร ไปจนถึงระดับครัวเรือน ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และนักวิชาการ ร่วมระดมสมองและแสดงเจตนารมย์แก้ปัญหาขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอก-ชัยดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารเครือข่ายร้านค้าปลีก “เทสโก้ โลตัส” กล่าวว่า วิกฤติขยะอาหารส่งผลอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และการเสียโอกาสทางสังคม ดังนั้น เทสโก้ โลตัส มุ่งขยายผลผลักดันการลดขยะอาหารในประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ เริ่มจากจัดงานประชุม 2019 Thailand’s Annual Conference on Food Waste ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ธีม Target, Measure, Act: A Recipe for Success เพื่อสร้างการรับรู้ต่อการขับเคลื่อนการทำงานที่จำเป็นต้องสร้างการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนของห่วงโซ่อาหาร 

ทั้งนี้ ภาคีเอกชน หอการค้าไทย จะเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้เครือข่ายสมาชิกหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 1.2 แสนราย ร่วมกันลดขยะอาหารและสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy

ในฐานะธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารในปริมาณมาก และอยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อาหาร ระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร ผู้ประกอบธุรกิจอาหาร และผู้บริโภค  เทสโก้ โลตัส ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการลดขยะอาหารภายในธุรกิจ และขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เกิดขึ้นในวงกว้าง"

การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกลุ่มเทสโก้ ตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจลง “ครึ่งหนึ่ง” ภายในปี 2573  

เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 12.3 (UNSDG Target 12.3) ในการลดขยะอาหารให้ได้ “ครึ่งหนึ่ง” ภายในปี 2030 หรือ 2573

โดยการขับเคลื่อนการลดขยะอาหารกลุ่มเทสโก้ ใช้กรอบการทำงาน Target, Measure, Act ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับสากล นั่นคือ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและประกาศให้เป็นสาธารณะ (Target) การวัดผลอย่างต่อเนื่องและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส (Measure) และการลงมือทำเพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ (Act) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของงานประชุมประจำปีครั้งนี้ 

ทั้งนี้ การลดขยะอาหารที่ได้ผล จำเป็นต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ถูกต้องและมีการทำงานที่เป็นระบบ นอกจากทีมงาน เทสโก้ โลตัส แล้ว ยังมีผู้แทนจากองค์กรอื่นๆ จากหลากหลายอุตสาหกรรม มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความสำเร็จ ความท้าทาย และทางออก ในการบริหารจัดการและลดขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ

ประวิทย์ ประกฤตศรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัย หอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายมิติอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะขยะพลาสติก ขยะอาหาร ถือเป็นภัยคุกคามมนุษย์โลกที่จะต้องกลับมาบริหารจัดการ วางแนวทางดำเนินงานอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

**ปลุกเอกชน-ผู้บริโภคเข้มลดขยะ

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยต้องมีแผนปฏิบัติการหรือ โรดแมพเพื่อกำหนดมาตรการและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะ ขยะอาหาร เป็นปัญหาที่มีความสำคัญ จากปริมาณขยะมูลฝอย 28 ล้านตัน พบว่า 64% เป็นขยะอินทรีย์ ในจำนวนนี้เกิน 50% เป็นขยะอาหาร 

แน่นอนว่าปริมาณขยะ!! กระทบหลายประเด็นทั้งภาวะก๊าซเรือนกระจก ความมั่นคงทางอาหาร การขจัดความหิวโหย สุขภาพอนามัยของประชาชน และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ต้องมีความร่วมกันในการทำงานกับหลายกระทรวง รวมทั้งภาคเอกชน และผู้บริโภค เป็นพลังในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม

ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นการดำเนินงานการเก็บข้อมูลและการจัดการเรื่องการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ซึ่งเราให้ความสำคัญและร่วมมืออิงนโยบายของสหประชาชาติ” 

หลังจากนี้ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนวาระการลดขยะอาหารให้เป็นไปอย่างมีระบบ แบบแผน และขยายวงกว้างมากขึ้น