“ไทยเบฟ” ยกเครื่องทุนมนุษย์ เคลื่อนผู้นำเครื่องดื่มอาเซียน

“ไทยเบฟ” ยกเครื่องทุนมนุษย์ เคลื่อนผู้นำเครื่องดื่มอาเซียน

ไทยเบฟ เดินแผนพัฒนาบุคลากร 6.3 หมื่นคน สานเป้าเบอร์ 1 เครื่องดื่มภูมิภาค ทุ่มงบปีละ 200 ล้าน ยกระดับสู่วัฒนธรรมทำงาน“อาเซียน” เปิดกว้างคนรุ่นใหม่ร่วมทีม สร้าง“ไทยเบฟ โกลบอล แวลู” ผ่าน 3 คุณค่า“ผสานพลัง-สร้างสรรค์-ใส่ใจผู้เกี่ยวข้อง"

ปีนี้เป็นปีสุดท้ายของวิสัยทัศน์ 2020 ของยักษ์เครื่องดื่มของไทยและภูมิภาคอาเซียน “ไทยเบฟเวอเรจ” และยังคาบเกี่ยววิสัยทัศน์ใหม่ 2025 ในการมุ่งผลักดันบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน พร้อมคว้าโอกาสทางการตลาดจากการเสรีอาเซียนบวก 3 ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีและจีน อาเซียนบวก 6 เพิ่มออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งจะครอบคลุมประชากรมากกว่าครึ่งโลก จากประชากรโลกกว่า 7,700 ล้านคน

ในเชิงธุรกิจ ไทยเบฟ วาดวิสัยทัศน์ 5 ปี คือ 2025 แต่เรื่อง “ทุนมนุษย์” ซึ่งเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนองค์กร ได้วางวิสัยทัศน์ระยะยาว 2050 ยึดโอกาสจากพนักงานที่จบการศึกษาและทำงานร่วมกับบริษัทตั้งแต่วันแรกจนถึงวัยสิ้นสุดการทำงานหรือเกษียณพอดี ทำให้แต่ละปีบริษัทใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาบุคลากร

นายเอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภารกิจสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ให้สอดคล้องกับธุรกิจ เริ่มจากการมองบุคลากรเป็น “ทุนมนุษย์” ที่มีคุณค่าหากองค์กรยิ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนจะยิ่งสร้างการเติบโต ต่างจากทรัพยากรมนุษย์ ที่ใช้แล้วหมดไป

ผู้นำเครื่องดื่ม 5 ประเทศอาเซียน 

ปัจจุบันไทยเบฟดำเนินธุรกิจในหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่การให้ความสำคัญจะอยู่ใน “ภูมิภาคอาเซียน” เพื่อสร้างการเติบโต รวมถึงการเป็นยักษ์เครื่องดื่มของไทยเบฟในขณะนี้ สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดเครื่องดื่มก้าวเป็น “ผู้นำ” ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซียโดยบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ  เบอร์ฮาร์ด, สิงคโปร์ โดยบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น) เวียดนามโดยบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก และประเทศเมียนมา หลังซื้อกิจการบริษัท Myanmar Distillery เจ้าของสุราแบรนด์ Grand Royal เป็นต้น

บุคลากรทั้งกลุ่ม 6.3 หมื่นชีวิต

ขณะที่บุคลากรของทั้งกลุ่มมีมากกว่า 63,000 คน แบ่งเป็น ในไทย 48,000-49,000 คน ที่เหลือเป็นต่างชาติ โดยเฉพาะชาวอาเซียน ซึ่งจากการซื้อกิจการเครื่องดื่มในต่างประเทศ และธุรกิจร้านอาหารทำให้การขยายตัวของบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับแนวทางในการพัฒนาคนจะยึดคุณค่าหลัก หรือ Thaibev Global Values 3 ประการ ได้แก่ ร่วมกันผสานพลัง(Collaboration) สร้างสรรค์คุณค่า(Creating Value) และใส่ใจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Caring for Stakeholders)เพื่อให้เกิดวิถีการทำงานที่แข็งแกร่ง และส่งผลต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก ตอกย้ำองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการสร้างการเติบโตให้กับภูมิมภาคอาเซียน

ระดมสมอง300ผู้บริหารทั่วโลก 

“เราประชุมประจำปีกับผู้บริหาร 300 คนจากทั่วโลก เพื่อระดมสมองในการสร้าง Thaibev Global Values ซึ่งทั้ง 3 คุณลักษณะที่ยึดปฏิบัติส่วนหนึ่งยังเป็นการถอดรหัสความสำเร็จของ ท่านประธานเจริญ (สิริวัฒนภักดี) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งในการขยายธุรกิจด้วยการซื้อกิจการต่างๆ จะมีพันธมิตรที่ดีมาก และเกิดการนำเอาจุดแข็งมาร่วมกันทำงาน สร้างสรรค์คุณค่าใหม่ๆตลอดเวลา รวมถึงใส่ใจต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน”

ทรานส์ฟอร์ม“องค์กรอาเซียน”

ทั้งนี้ การโฟกัสตลาดอาเซียน ทำให้การพัฒนาบุคลากรในองค์กร จะต้องยกระดับวัฒนธรรมการทำงานเป็นอาเซียนด้วย พนักงานจะต้องพร้อมในการเดินทางโยกย้ายไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างคล่องตัว จากปัจจุบันมีพนักงานที่ยังไม่พร้อมในการไป หรือส่วนใหญ่ต้องการไปทำงานในประเทศแถบยุโรป ญี่ปุ่นมากกว่า

“เราต้องการทรานส์ฟอร์มวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรเป็นระดับอาเซียน ทำให้อาเซียนเป็นเหมือนบ้านของเราจริงๆ เพื่อให้พร้อมไปกับการขยายตัวทางธุรกิจที่ไทยเบฟปักหมุดตลาดอาเซียน”

ดันศักยภาพ-เพิ่มทักษะทุนมนุษย์

นอกจากนี้ ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทยังมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะใหม่ๆในการทำงาน รวมถึงปรับทักษะเดิมให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม การเข้าถึงลูกค้าอย่างรวดเร็วขึ้น การผสานพลังกัน รวมถึงทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีและดิจิทัล เนื่องจากแนวโน้มในอนาคต ดิจิทัล จะพลิกสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้เดือนกันยายนที่ผ่านมา ฐาปน นำทีมผู้บริหาร 20 ท่านไปฝังตัวที่สหรัฐ เรียนรู้การทำงานและเทคโนโลยีจากพันธมิตรระดับโลก เช่น IBM SAP เป็นต้น

“สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ คือด้านทักษะของคน ซึ่งประเมินว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยจังหวะของการเปลี่ยนด้านทักษะในวิสัยทัศน์ 2020 ไทยเบฟยังแข็งแกร่งในการโอบอุ้มพนักงาน แต่วิสัยทัศน์ 2025 องค์กรจับมือกับพนักงานเพื่อพัฒนาและเพิ่มทักษะใหม่ๆให้แก่พนักงาน เป็นสิ่งที่เราเฝ้าบอกพนักงาน เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากเราต้องปรับทักษะไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงและสำเร็จไปพร้อมกัน”

เปิดกว้างคนรุ่นใหม่เคลื่อนองค์กร

ขณะเดียวกัน ไทยเบฟ ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่และเปิดกว้างรับคนกลุ่มนี้เข้าทำงานมากขึ้น รวมถึงเป็นกลุ่มคนที่ต้องดูแลในระยะยาวอีก 30 ปีข้างหน้า หากสามารถรักษาและปรับคนเหล่านี้ให้เหมาะสมกับองค์กร จะเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในการทำงานสูงมาก ส่วนบุคลากรเก่าแก่ มีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น คนขับรถบรรทุกประเภทต่างๆ ที่อายุ 52 ปี จะยกระดับให้เป็นเทรนเนอร์หลังเกษียณ ตอกย้ำการสร้างโอกาสในการทำงานแบบไร้ขีดจำกัด ปัจจุบันไทยเบฟมีบุคลากรอายุเฉลี่ยกว่า 30 ปี ส่วนใหญ่ 90% เป็นเจเนอเรชั่น Y(อายุ 21-37 ปี) และ X(อายุ 38-53 ปี)

อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาบุคลากร สิ่งที่อยากที่สุดคือการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่นวัตกรรม อดีตองค์กรใหญ่ขยับตัวแต่ละครั้งสร้างผลกระทบในวงการธุรกิจ แต่ปัจจุบันองค์กรหรือธุรกิจขนาดเล็ก เช่น สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมโดดเด่น สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้องค์กรขนาดใหญ่ได้

รุกสู่“องค์กรนวัตกรรม” 

“การบริหารแบรนด์ การร่วมมือหรือคอลลาบอเรชั่น เราทำได้ดีมากๆ แต่การปรับตัวเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นโจทย์ใหญ่ของเรา แต่ไทยเบฟพยายามพัฒนาตลอดเวลา การที่บริษัทประสบความาสำเร็จ ทำให้คนไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงมากนัก รวมถึงการเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ จะมีผลต่อความคล่องตัวในการทำงาน แต่ข้อดีของการเป็นองค์กรที่มีดีเอ็นเอการเติบโตตลอด เช่น การมีสตาร์บัคส์เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ การซื้อกิจการต่างๆ ถือเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี”