เกาหลีใต้ส่งสัญญาณประนีประนอมญี่ปุ่น

เกาหลีใต้ส่งสัญญาณประนีประนอมญี่ปุ่น

เกาหลีใต้ส่งสัญญาณประนีประนอมญี่ปุ่น ยอมต่ออายุข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลทางทหารร่วมกัน

กรณีพิพาทการค้าระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีสาเหตุมาจากความบาดหมางในอดีต ทำให้หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าของสองประเทศนี้พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ล่าสุด ความตึงเครียดของสองประเทศเริ่มส่งสัญญาณที่ดีออกมา เมื่อสื่อเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รายงานตรงกันว่า เกาหลีใต้ เปลี่ยนใจเรื่องจะปล่อยให้ข้อตกลงแบ่งปันข่าวกรองกับญี่ปุ่นหมดอายุลงวานนี้ (22พ.ย.) โดยจะต่ออายุอย่างมีเงื่อนไข

สำนักข่าวยอนฮัพของเกาหลีใต้ รายงานว่า เกาหลีใต้ ตัดสินใจต่ออายุความตกลงแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสารทางทหาร (จีเอสโอเอ็มไอเอ) ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ที่ลงนามและบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 และจะหมดอายุหลังเที่ยงคืนของวานนี้ ตามเวลาท้องถิ่น รวมทั้งตัดสินใจระงับการร้องเรียนต่องค์การการค้าโลกเรื่องญี่ปุ่น จำกัดการส่งออกวัสดุไฮเทคให้เกาหลีใต้ ถือเป็นข่าวดีที่สะท้อนถึงสถานการณ์ตึงเครียดของสองประเทศเริ่มบรรเทาลงในระดับหนึ่ง

สหรัฐ เรียกร้องอยู่เสมอให้พันธมิตรทั้งสองประเทศวางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงคราม โดยย้ำว่าประเทศที่จะได้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้มีเพียงเกาหลีเหนือและจีนเท่านั้น

ข้อตกลงนี้ เปิดทางให้ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแบ่งปันข่าวกรอง โดยเฉพาะเรื่องศักยภาพนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งที่ผ่านมา เกาหลีใต้ ต่ออายุข้อตกลงนี้ทุกปี จนกระทั่งขู่ว่าจะไม่ต่ออายุในปีนี้ หลังจากที่ความสัมพันธ์เสื่อมทรามลงเพราะข้อพิพาทในอดีตลามมาถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์เคบีเอส ของเกาหลีใต้ ยังรายงานว่า นางคัง คยอง ฮวา รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ เตรียมเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของกลุ่มประเทศจี-20 ในวันศุกร์ (22 พ.ย.)ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งการเข้าร่วมประชุมของนางคังถือเป็นที่จับตา โดยนางคังอาจร่วมหารือกับนายโตชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น นอกรอบการประชุมจี20

เกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีปมความขัดแย้งตั้งแต่สมัยที่ญี่ปุ่นเข้ารุกรานและปกครองเกาหลีตั้งแต่ปี 2453 จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในปี 2488 และเมื่อปีที่แล้ว ศาลเกาหลีใต้ มีคำสั่งให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้ชาวเกาหลีที่ถูกบังคับใช้แรงงานทาสในช่วงสงครามซ้ำอีกครั้ง แต่ทางการญี่ปุ่น ยืนกรานว่า ข้อพิพาทนี้ได้ยุติลงมาตั้งแต่ปี2508 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งสองประเทศได้ปรับปรุงความสัมพันธ์มาสู่ระดับปกติในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน

บริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี คือหนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องในคดีความดังกล่าว ปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งศาล ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นอีก 2 แห่งได้ถูกอายัดทรัพย์ในเกาหลีใต้

ข้อพิพาทนี้ ยังส่งผลต่อเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วย โดยสหรัฐต้องพึ่งพาญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในการผนึกกำลังกดดันเกาหลีเหนือและต่อสู้กับการเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นระหว่างรัสเซียและจีน จึงทำให้มีความกังวลว่า ข้อพิพาททางการค้าครั้งล่าสุดของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะยิ่งนำไปสู่ความแตกแยกและทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างสองชาติต้องสั่นคลอน

อย่างไรก็ตาม ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ต่างก็เป็นประเทศประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการตลาด แต่เพราะความขัดแย้งเมื่อครั้งอดีตที่ยังฝังใจ ทำให้ทั้งสองประเทศถอดชื่อของอีกฝ่ายออกจากบัญชีประเทศคู่ค้าที่ได้รับการสนับสนุน และเกาหลีใต้ เริ่มต่อต้านสินค้าของญี่ปุ่น ส่งผลให้ตัวเลขจำหน่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นลดลงไปกว่า 30% และยังส่งผลให้สายการบินอีกหลายแห่งต้องระงับเส้นทางบินไปประเทศเพื่อนบ้านเพราะตัวเลขผู้โดยสารลดลงอย่างฮวบฮาบ

นอกจากนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกาหลีใต้บางคน เสนอให้คว่ำบาตรการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันและยังเสนอห้ามชาวเกาหลีใต้เดินทางไปญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลว่ายังมีกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะจากผลของแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อ 8 ปีก่อน

แต่สื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำอย่างหนังสือพิมพ์ไมนิชิ ชิมบุนของญี่ปุ่น เขียนในบทบรรณาธิการว่า ทั้งสองประเทศกำลังถอยหลังกลับเข้าสู่วังวนแห่งการใส่ร้ายซึ่งกันและกัน โดยพยายามที่จะเอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งเตือนไปยังรัฐบาลทั้งสองประเทศว่า การกระทำแบบนี้จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดลัทธิชาตินิยมรุนแรง

คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า กรณีพิพาทระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะจบลงอย่างไร และเมื่อใด หลังจากที่ทั้งสองประเทศล้มเหลวในการหารือในประเด็นความขัดแย้งทางการค้าเมื่อเดือนก.ค.มาแล้ว ซึ่งกรณีพิพาททางการค้าครั้งนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์และหน้าจอของเกาหลีใต้ อย่าง ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และเอสเค ไฮนิกซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ให้กับแอ๊ปเปิ้ลและหัวเว่ย