‘ฟินเทค’ โอกาสใหม่ ของโลกยุค ‘ศตวรรษที่21’

 ‘ฟินเทค’ โอกาสใหม่  ของโลกยุค ‘ศตวรรษที่21’

จบไปหมาดๆ สำหรับงาน FinTech Festival 2019 ช่วงกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา โดยสิงคโปร์เปิดบ้านต้อนรับคนในแวดวงการเงินการลงทุนกว่า 6 หมื่นคน จากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และยังมีผู้มาร่วมจัดแสดงงานกว่า 1,000 ราย

ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ก.ล.ต. จากประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมงานเป็นครั้งแรก พร้อมกับการนำสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Distributed Ledger Technology (DLT) มาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนไทย

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยภายในงานว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต. ได้นำเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยี อาทิ Blockchain, Smart contract มาเป็นกลไกขับเคลื่อนกระบวนการของตลาดทุนไทย ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง นับตั้งแต่เรื่องการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ทุกประเภท การขายในตลาดรอง ซึ่งทั้งกระบวนการจะเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. ต้องการจะผลักดันในเวลานี้

สำหรับงาน FinTech Festival ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ผสมผสานเข้ากับระบบการเงินจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้อย่างไร ตัวอย่างหนึ่งที่เราได้เห็นกันคือ การพยายามพัฒนาระบบของธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ร่วมกับบริษัท FinTech หลายๆ แห่ง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยง สร้างโอกาส และยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน

สิงคโปร์ถือเป็นประเทศต้นแบบในภูมิภาคเอเซียน สำหรับการใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศ เดิมทีสิงคโปร์เป็นเพียงแค่หมู่เกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีทรัพยากรทางธรรมชาติค่อนข้างจำกัด ปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนคือ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำจืด และต้องนำเข้าน้ำจืดจากมาเลเซียมาโดยตลอด

ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยให้สิงคโปร์สามารถรีไซเคิลน้ำและเริ่มผลิตน้ำจืดได้เองจากการแปรสภาพน้ำทะเล ขณะเดียวกันสิงคโปร์ยังได้วางเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ประเทศสามารถผลิตอาหารได้เอง 30% ของความต้องการ ภายในปี 2573 รวมไปถึงโครงการพลังงานสะอาดต่างๆ

นอกเหนือไปจากด้านเทคโนโลยี ธนาคารกลางสิงคโปร์เชื่อว่า ‘การสร้างโลกสีเขียว จำเป็นต้องสร้างการเงินสีเขียวด้วย’ โดยขั้นตอนที่สำคัญอย่างแรกคือ การสร้างระบบการเงินที่สอดคล้องกับความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจโดยนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาด้วย หรือการลดการสนับสนุนเงินทุนสำหรับธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นจะต้องพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ หุ้นกู้สีเขียว (Green Bond) กองทุนสนับสนุนความยั่งยืน (Green Fund) รวมทั้งการพัฒนาแพลทฟอร์มต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสีเขียวสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งในส่วนของรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนจะใช้เงินถึง 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากประเด็นเรื่องของความยั่งยืน สิ่งสำคัญที่ถูกนำเสนอผ่านงานในครั้งนี้ คือ ‘โอกาส’ ที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21

ในยุคสมัยหนึ่ง ‘น้ำมัน’ คือขุมทรัพย์ ที่ทำให้ประเทศอย่างสหรัฐพัฒนาอย่างก้าวกระโดด กลุ่มประเทศตะวันออกกลางกลายเป็นผู้ร่ำรวยของโลก แต่ในศตวรรษหน้า ‘Big Data’ จะเข้ามาแทนที่น้ำมัน

กระแสของโลกทุกวันนี้ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ของโลกธุรกิจ นั่นก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

เราได้เห็นบริษัทอย่าง OakNorth ธนาคารสัญชาติอังกฤษ ที่ใช้พนักงานเพียง 200 – 300 คน เติบโตจนมีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ แต่สามารถปล่อยสินเชื่อด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้นผ่านการใช้ AI เข้ามาวิเคราะห์ลูกค้าในเชิงลึก หรือบริษัทอย่าง Google และ Tesla ที่พัฒนายานยนต์ไร้คนขับ หรือแม้แต่โรงงานของ Amazon ที่ดำเนินการด้วยเครื่องจักรเกือบ 100%

ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดขึ้นมาจากความสามารถที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในการจัดการและประมวลข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ได้รวดเร็วมากขึ้นหลายเท่า

Big Data เปรียบเสมือนวัตถุดิบที่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการผลิต ซึ่งมูลค่าของมันจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการแปลงและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคได้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อสร้างความต้องการให้กับผู้บริโภคขึ้นมาได้เลย

‘สกุลเงินดิจิทัล’ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจภายในงานครั้งนี้ โดยมีตัวแทนจากสองผู้นำในการพยายามสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมา ทั้งจากธนาคารกลางของจีน และ Libra ของ Facebook จากทางฝั่งสหรัฐ ในจุดนี้ดูเหมือนว่าจุดมุ่งหมายของทั้งสองฝั่งจะแตกต่างกันในระดับหนึ่ง

Libra ต้องการสร้างสกุลเงินดิจิทัลเพื่อเข้ามาลดต้นทุนในการโอนเงินระหว่างประเทศให้หมดไป รวมทั้งการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารสามารถเข้าถึงได้

ขณะที่ธนาคารจีนต้องการสร้างสกุลดิจิทัลมาเพื่อกระจายความเสี่ยงของวงจรธุรกิจ โดยจีนไม่ได้ต้องการนำสกุลเงินใหม่นี้เข้ามาแทนที่ แต่จะนำเข้ามาใช้ร่วมกัน

ทั้งนี้ หากในอีกสัก 5 ปีข้างหน้า สกุลเงินดิจิทัลถูกพัฒนาขึ้นมาใช้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ มันจะช่วยให้ต้นทุนในการโอนเงินระหว่างประเทศลดต่ำลงหรืออาจจะหมดไป รวมทั้งการผสานของระบบการเงินจนเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น แต่กลับกันสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้อาจจะถูกพัฒนาออกมามากจนเกินไป และไม่ได้รับการกำกับดูแลที่ดีเพียงพอ จนเกิดความวุ่นวายต่อระบบการเงินทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถหยุดยั้งความท้าทายเหล่านี้ได้ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การพยายามดึงเอาพลังด้านบวกของเทคโนโลยีมาผสมผสานกับระบบการเงิน เพื่อสรรค์สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับมนุษย์