‘บสก.’ลุยไอพีโอระดม3หมื่นล้าน เคาะราคาขาย 15.5-17.5 บาท เทียบ ‘พี/อี’ 11 เท่า

‘บสก.’ลุยไอพีโอระดม3หมื่นล้าน เคาะราคาขาย 15.5-17.5 บาท เทียบ ‘พี/อี’ 11 เท่า

‘บสก.’ มั่นใจขายหุ้นไอพีโอหมด 1,765 ล้านหุ้น เตรียมระดมทุน 3 หมื่นล้านบาท หลังเคาะราคาขาย 15.50 – 17.50 บาท ให้ส่วนลด 16% จากราคาพื้นฐาน ชูจุดแข็งจากกระแสเงินสดรับต่อปีไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เปิดเผยว่า BAM เตรียมระดมทุนผ่านการขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ) รวมไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น กำหนดราคาขาย 15.50 – 17.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5 บาท หากมีการใช้สิทธิเต็มจำนวนที่ระดับราคาสูงสุด บริษัทจะระดมเงินทุนได้ทั้งสิ้น 3.08 หมื่นล้านบาท

โดยราคาไอพีโอดังกล่าวคิดเป็นส่วนลดประมาณ 16 – 17% จากมูลค่าเหมาะสมของหุ้น BAM และคิดเป็น P/E ประมาณ 11 เท่า ส่วน P/BV อยู่ที่ประมาณ 1.53 - 1.73 เท่า โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อในวันที่ 25 – 29 พ.ย. นี้ ผ่านธนาคารกสิกรไทย กรุงไทย และไทยพาณิชย์

สำหรับหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้แบ่งเป็นหุ้นไอพีโอไม่เกิน 1,535 ล้านหุ้น แบ่งขายให้กับบุคคลทั่วไป 414.5 ล้านหุ้น และนักลงทุนสถาบัน 1,120.5 ล้านหุ้น และอาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) อีกไม่เกิน 230 ล้านหุ้น

“มั่นใจว่าการระดมทุนของ BAM ผ่านการขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้จะทำได้ตามเป้าที่วางไว้ แม้จะไม่ได้มีการรับประกันการจำหน่าย ซึ่งในขณะนี้ได้มีนักลงทุนสถาบันจองซื้อล่วงหน้าเข้ามาแล้วกว่า 46% ส่วนการใช้กรีนชูเข้ามาด้วยนั้นก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เพราะหุ้นไอพีโอของ BAM กระจายค่อนข้างมาก หากเกิดแรงขายจนราคาต่ำกว่าจองในช่วงแรกก็จะมีแรงซื้อจากกรีนชูเข้ามาช่วย”

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของ BAM หากคำนวณ ณ ราคาไอพีโอที่ 17.50 บาท จะอยู่ที่ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 ของหุ้นกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ สำหรับค่าเฉลี่ย P/E ของกลุ่มเงินทุนฯ อยู่ที่ประมาณ 30 เท่า และค่าเฉลี่ย P/BV อยู่ที่ 1.77 เท่า ส่วนหุ้นที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันอย่าง JMT มีค่า P/E 32 เท่า และ P/BV 6.3 เท่า

ด้าน นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM กล่าวว่า จุดเด่นของ BAM คือการเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 47.3% จากมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมที่ 2.27 แสนล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2559 – 2561 มีรายได้เติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี และมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 3% ต่อปี ส่วนเงิน 9 เดือน ปี 2562 มีรายได้รวม 9.2 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4.8 พันล้านบาท ขณะที่ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ในปีนี้ ลดลงมาอยู่ที่ 2.3 – 3.9%

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะนำไปชำระคืนเงินกู้ที่ใช้ในการซื้อสินทรัพย์ที่ผ่านมา 3,546 – 4,040 ล้านบาท และอีก 394 – 449 ล้านบาท จะใช้สำหรับการซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขายในอนาคต

“ภายหลังจากการระดมทุนในครั้งนี้ ฐานะการเงินของบริษัทจะแข็งแกร่งมากขึ้น ด้วยอัตราหนี้สินต่อทุนที่มีแนวโน้มจะลดลงจากปัจจุบันที่ราว 1.7 เท่า และในอนาคตบริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าประนอมหนี้ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ช่วยสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทอย่างสม่ำเสมอ ตั้งเป้าจะมีจำนวนลูกค้าในกลุ่มนี้ปีละ 6,000 ราย คิดเป็นกระแสเงินสดประมาณ 4.8 พันล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ราว 1.5 – 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี”

ทางด้าน บริษัท แอพพลิแคด จำกัด (มหาชน) หรือ APP เป็นหุ้นไอพีโอตัวล่าสุดที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ MAI โดยเข้าทำการซื้อขายเป็นวันแรกวานนี้ (22 พ.ย.) ปิดการซื้อขายที่ 3.04 บาท เพิ่มขึ้น 23.58% จากราคาไอพีโอที่ 2.46 บาท พร้อมปริมาณการซื้อขายรวม 242.65 ล้านหุ้น

นายประภาส ตั้งอดุลย์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ APP เปิดเผยว่าบริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 63 จะเติบโตได้ 15%โดยสัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจรายได้ประจำ หรือรายได้จากบริการ Subscription Service ในสัดส่วน 30% และส่วนที่เหลือจะมาจากการเติบโตจากภายใน

บล.ทิสโก้ ระบุว่า ณ ราคาไอพีโอของ APP ที่ 2.46 บาท คิดเป็น P/E ที่ค่อนข้างต่ำเพียงประมาณ 10 เท่า ทำให้ราคาหุ้นของ APP ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีของตลาด MAI ที่มีกรอบ P/E 9 – 38 เท่า อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของ APP ยังมีความได้เปรียบคู่แข่งในด้านของราคา ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน และสิ่งพิมพ์ 3 มิติเป็นเทคโนโลยีที่มาได้ไม่นานมีโอกาสในการเติบโตสูง