เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรคาด การแบนสารฯ อาจล่าช้ากว่าที่กำหนด

เครือข่ายต้านสารพิษเกษตรคาด การแบนสารฯ อาจล่าช้ากว่าที่กำหนด

ย้ำ มติคณะกรรมการอันตรายมีผลผูกพันต่อกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง แม้ต้องเลื่อนการบังคับใช้ออกไป

โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้ลงมติแบนสารพิษเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอสเมื่อปลายเดือนตุลาคม และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายคาดว่าการบังคับใช้การแบนสารฯ อาจไม่ทันตามที่กำหนดเนื่องจากยังต้องมีการจัดการสต๊อกและการเปลี่ยนผ่านอีกระยะ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการชีววิถี หรือ BioThai หนึ่งในองค์กรนำในเครือข่ายต้านสารพิษเกษตร หรือ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษเกษตรร้ายแรง 686 องค์กร ประเมินว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้แบนสารพิษเกษตรทั้ง 3 ชนิด ยังคงมีผลผูกพันต่อกระทรวงและหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง แม้จะต้องรอผ่านการลงนามรับรองจากรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมที่นั่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ เพราะถือว่าเป็นการทำงานในระดับนโยบายของรัฐบาล

นายวิฑูรย์กล่าวว่า กำหนดระยะเวลาที่ให้มีการยกเลิกการใช้สารพิษทั้งสามตัวในวันที่ 1 ธันวาคม อาจมีความล่าช้าออกไปอีกนะยะ เนื่องจากมีความกระชั้นชิด และต้องใช้เวลาในการเตรียมการกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ร่างกฏกระทรวงฯ ใหม่ที่ต้องใช้เวลารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม นายวิฑูรย์กล่าวว่า การเลื่อนเวลาการยกเลิกการใช้สารพิษเกษตรออกไป ไม่ได้มีนัยยะอย่างใดต่อการดำเนินการขั้นต่อไป นอกเสียจากว่า จะเกิดความล่าช้าเกินหนึ่งหรือสองเดือน ซึ่งอาจแสดงถึงความผิดปกติของกระบวนการ

เครือข่ายฯ ไม่ได้มีความกังวลต่อแนวทางที่จะนำมาใช้ทดแทนสารพิษเกษตรที่ถูกแบนไป เพราะยังมีทางเลือกในการกำจัดวัชพืชที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีเกษตร โดยเครือข่ายฯ ได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวในงานสัมนาในต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยมี 3 ทางเลือคือ การใช้เครื่องจักกลมาแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช การปลูกพืชคลุมดิน และ การปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชแบบผสมผสาน

นอกจากนี้ เพื่อให้การแบนสารพิษดำเนินการต่อไปได้ เครือข่ายฯ เสนอว่า รัฐบาลควรออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ โดยควรรับภาระในการชดเชยต้นทุนที่อาจสูงขึ้นในการปรับเปลี่ยนจากการใช้สารพิษมาเป็นวิธีอื่นของเกษตรกร

กระทรวงเกษตรฯ ควรประเมินงบประมาณสำหรับการดำเนินการดังกล่าว และเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติให้ทันก่อนหน้าฤดูกาลเพาะปลูกจะเริ่มขึ้น, เครือข่ายฯ แนะนำ

อีกทั้ง รัฐต้องยกเลิกภาษีเครื่องจักรกลการเกษตร วัสดุคลุมดิน หรือเครื่องมือใดๆ ดังที่รัฐบาลไม่เรียกเก็บภาษีสารพิษทางการเกษตรติดต่อกับมานานเกือบ 30 ปี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรที่ใช้วิธีการควบคุมศัตรูพืชที่ไม่ใช่สารเคมี

เครือข่ายฯ ยังกล่าวอีกว่า รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม เครื่องจักรกลอัจฉริยะ พัฒนาบทบาทของวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดช่างชาวบ้าน และอาชีพบริการการควบคุมวัชพืชและศัตรูพืชที่ไม่ใช้สารเคมี

นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังสนับสนุนการผลักดันให้มีการเสนอกฎหมายว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้เกิดกลไกใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนให้เกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นทิศทางเกษตรกรรมหลักของประเทศภายในทศวรรษหน้า รวมทั้งแยกกฎหมายว่าด้วยการกำกับควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกจากกฎหมายวัตถุอันตราย เพื่อให้การควบคุมการใช้สารพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และสามารถปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง

ข้อเสนอของเครือข่ายฯ ส่วนหนึ่งได้มาจากการประมวลข้อมูลของงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการวัชพืชของพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศกว่า 10 ชิ้น อาทิ งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแม้แต่งานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเอง โดยในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและกำลังเป็นประเด็นอย่างอ้อยหรือยางพารา เครือข่ายฯ พบว่า ในงานวิจัยหาวิธีการกำจัดวัชพืชหลังอ้อยงอกที่เหมาะสมแต่ละแหล่งปลูกนั้น พบว่า การใช้จอบหมุนติดรถไถเดินตามและแทรคเตอร์ได้ผลดีกว่าการใช้สารเคมี โดยให้ผลผลิตและผลตอบแทนดีกว่าพาราควอต

นอกจากนี้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า วิธีการควบคุมวัชพืชที่มีต้นทุนต่ำสุดคือการใช้จอบหมุนติดท้ายรถแทรคเตอร์ 24 แรงม้า และเมื่อใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ จะทำให้มีกำไรมากที่สุด

ในกรณีของยางพารา เครือข่ายฯ พบว่า เพียงแค่การปรับเปลี่ยนพืชในแปลงมาเป็นพืชผสมผสานกับไม้ยืนต้นอื่นๆ อาทิ ตะเคียนทอง กฤษณา หรือไผ่ โดยไม่จำเป็นต้องกำจัดวัชพืชเลย เกษตรกรจะได้รับจะผลตอบแทนที่สูงกว่าการปลูกพืชยางพาราเพียงอย่างเดียว

ในขณะที่หากเกษตรกรปลูกถั่วคลุมดิน จะได้ยางที่เติบโตและให้ผลผลิตดีกว่าในแปลง ซึ่งเครือข่ายฯ ประเมินว่า หากเปลี่ยนมาใช้พืชคลุมดินทั้งหมด ผลตอบแทนในรูปของธาตุอาหารในแปลงจะมีมูลค่าสูงถึง 157, 046 ล้านบาท