สมาคมเวชฯคาด “รพ.ออนไลน์” เติบโตมากขึ้น

สมาคมเวชฯคาด “รพ.ออนไลน์” เติบโตมากขึ้น

สมาคมเวชสารสนเทศฯ เชื่อผลพวงจากเทคโนโลยีดิสรัป ทำรพ.เสี่ยงโอกาสปิดตัวสูง แนวโน้มคนมุ่งใช้บริการ “รพ.ออนไลน์” เข้าถึงบริการทุกที่ทุกเวลา ปรึกษาอาการ-ตรวจกับแพทย์ผ่านแอพฯ เอกชนใช้ต้นทุนต่ำ แต่ความต้องการสูง เหตุ 80%

ในการประชุมระดับชาติด้านเวชสารสนเทศ ครั้งที่ 8 และการประชุมวิชาการสมาคมเวชสารสนเทศไทย ประจำปีพ.ศ.2562 ภายใต้แก่นเรื่อง “ปฏิรูปการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” เมื่อเร็วๆนี้ รศ.นพ.วรรษา เปาอินทร์ เลขาธิการสมาคมเวชสารสนเทศไทย กล่าวระหว่างการเสวนาแนวทางการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัลและการพัฒนาคุณภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล ว่า องค์ประกอบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital transformation) ในเรื่องเฮสท์แคร์หรือด้านสุขภาพ หมายถึง การมองยุทธศาสตร์ขององค์กรและคิดว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน เพื่อเพิ่มกำไร ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มผลลัพธ์ ถ้ามีองค์ประกอบครบทั้งหมดนี้จะเรียกว่าดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันของโรงพยาบาล แต่หากทำเพียงแค่ติดตั้งตู้คิวหรือการซื้อไอแพดให้แพทย์ใช้ในโรงพยาบาล โดยไม่มียุทธศาสตร์ก็จะเป็นแค่การซื้อเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น

           รศ.นพ.วรรษา กล่าวอีกว่า การที่โรงพยาบาล(รพ.)ต้องดำเนินการเรื่องดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน เนื่องจาก 1.ข้อมูลเมื่อเดือนมิ.ย.2562 ระบุว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ต 57 ล้านคน ผ่านสมาร์ทโฟน 2.โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ระบบเทคโนโลยีในการให้บริการผู้ป่วย 3.ถึงเวลาหรือยังที่จะปรับระบบการดูแลรักษาและให้บริการผู้ป่วยโดยใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยี โดยมีต้นทุนต่ำและเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโอกาสของโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การมีเทคโนโลยีถือเป็นวิกฤติของรพ.ได้เช่นเดียวกัน หากไม่มีการปรับตัวก็จะถูกเทคโนโลยี ดิสรัปหหรือทำลาย จนล่มสลาย เพราะการใช้เทคโนโลยีจะสร้างผลผลิตมากกว่าแบบเดิม 100 เท่าแต่ใช้ต้นทุนต่ำลง

            เลขาธิการสมาคมเวชฯ กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการตรวจรักษาคนไข้ จากเดิมที่จะต้องเดินทางไปพบแพทย์ถึงที่รพ. ก็จะเปลี่ยนเป็นระบบพบแพทย์ออนไลน์ ซึ่งในแง่ของการลงทุนระบบใหม่นี้จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าแบบเดิม 10 หรือ 100 เท่า เพราะไม่ต้องลงทุนสร้างตึกอาคารใหญ่โต หรืออาจไม่ต้องจ้างแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากแบบเต็มเวลา และเมื่อมีคนเปิดใช้บริการระบบแพทย์ออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ โรงพยาบาลที่เป็นสถานพยาบาลหรือหน่วยบริการก็จะทยอยปิดตัวเรื่อย เพราะโรงพยาบาลรูปแบบเดิมต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายที่สูง

             ขณะที่ความเจ็บป่วยของประชาชนในความเป็นจริง 80 %เป็นความเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในรพ. แต่สามารถดูแลตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาจจะมีการให้บริการรูปแบบนี้เพียง 1 % แต่อัตราการเติบโตจะเป็นแบบคูณ 2 คือ จาก 1 %เป็น 2 % และคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีก็จะเติบโตถึง 100 % ในการรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีถึง 80 %ที่ไม่ต้องรักษาในรพ.

          กลุ่มธุรกิจรพ.ที่ถือเป็นภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว เอกชนหลายแห่งเริ่มเปิดบริการในลักษณะของบริการออนไลน์ อย่างเช่น รพ.สมิติเวช ที่เปิดบริการ Samitivej Virtual Hospital มาเป็นเวลากว่า 1 ปี ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังรพ.เพื่อพบแพทย์ แต่สามารถพบแพทย์ปรึกษาอาการป่วยได้ผ่านระบบวิดีโอ คอล ได้ตลอด24 ชั่วโมง สามารถเข้าถึงบริการได้ทุกที่ทุกเวลา รวมถึง บริการจัดส่งยา และสรุปค่าใช้จ่ายต่อครั้ง โดยผู้ป่วยสามารถจ่ายตังค์ผ่านออนไลน์ได้เช่นกัน นอกจากนี้ รพ.บำรุงราษฎร์ก็ให้บริการรูปแบบนี้แล้วเช่นกัน ผ่านแอพพลิเคชั่น Raksa สามารถเลือกปรึกษาแพทย์ได้แบบทันทีทันใดเช่นเดียวกัน

         “บริการเช่นนี้ผู้ป่วยมีความสุขมาก เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอเวลาพบแพทย์ หรือรอรับยา ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ให้กับรพ.ก็เท่าเดิม และภาคธุรกิจก็พึงพอใจเพราะต้นทุนไม่มาก แต่ได้รับเงินเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการให้บริการรูปแบบนี้ คือ บุคคลที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะต้องมีความรับผิดชอบตามจริยธรรมของแพทย์และ 2 ฝ่ายทั้งแพทย์และผู้ป่วยต้องยอมรับความเสี่ยง เพราะในการตรวจบางครั้งอาจใช้เพียงแค่การถ่ายรูปหรือวิดีโอคอล ซึ่งจะมีความมั่นใจหรือไม่ในการตรวจรักษา และยังมีหลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วยและจริยธรรมของแพทย์ จึงจำเป็นจะต้องหามาตรการในการควบคุมความมั่นคงปลอดภัยและการละเมิดความลับและการละเมิดจริยธรรมแพทย์ด้วย”รศ.นพ.วรรษากล่าว

           รศ.นพ.วรรษา กล่าวอีกด้วยว่า หากรพ.ไม่เปลี่ยนแปลงหรือทรานส์ฟอร์เมชั่นตัวเอง ฝ่ายลูกค้าจะดำเนินการเรื่องนี้เอง ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นกิจกรรมเฮลท์แคร์จากฝั่งลูกค้า อย่างเช่น อเมซอนจัดทำแพลตฟอร์มของตัวเองในการดูแลด้านสุขภาพของพนักงานและครอบครัวโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปพบแพทย์

       แพลตฟอร์มของอเมซอน พนักงานและครอบครัวสามารถแชทข้อความปรึกษาแพทย์ หรือวิดีโอคอลกับแพทย์และพยาบาลได้แบบทันทีทันใด หากจำเป็นต้องดำเนินการสิ่งใดเพิ่มเติมก็จะมีพยาบาลไปหาที่บ้าน เพื่อทำการตรวจร่างกายหรือซักประวัติเพิ่มเติม และมีการจัดส่งยาไปให้ที่บ้าน ระบบนี้หากรพ.จะเข้าร่วมก็จะต้องเป็นลูกค้าแบบพาร์ทไทม์บนแพลตฟอร์มของอเมซอน ซึ่งครอบคลุมบริการเกี่ยวกับ การตรวจโรค การโรคแพ้ ติดเชื้อ บาดเจ็บเล็กน้อย การฉีดวัคซีน การคุมกำหนด การป้องกันโรค และการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น