กรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องย้าย แต่ทำให้ดีขึ้นได้ "เจ้าพระยาเดลต้า 2040" มีคำตอบ

กรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องย้าย แต่ทำให้ดีขึ้นได้  "เจ้าพระยาเดลต้า 2040" มีคำตอบ

"องค์กร Climate Central เผยผลวิจัยใหม่ เมืองใหญ่ที่เสี่ยงจมน้ำภายในปีค.ศ. 2050 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า มีทั้งเซี่ยงไฮ้ โฮจิมินห์ รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่จะหายไปใต้ทะเล" กลายเป็นกระแสตื่นตัวอย่างมาก และเกิดคำถามต่างๆ ตามมาว่า "กรุงเทพฯ กำลังจะจมแน่แล้ว"

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เล่าลือ และมีการเตือนๆ กันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา บางคนถึงกับซื้อที่ดินสร้างบ้านในจังหวัดพื้นที่สูง อย่าง นครราชสีมา เพชรบูรณ์ ฯลฯ รอรับสถานการณ์ ขณะที่หลายๆ หน่วยงานวางแผนจะสร้างเขื่อน ทำถนนเพื่อกั้นน้ำทะเลไม่ให้ท่วมเข้ามา แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปในการวางแผนคือ การมองบริบทการจัดการน้ำแบบครบทุกมิติ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ตามที่รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า

"เราไม่เคยมีความฝันร่วมกัน ไม่เคยพูดออกมาชัด ๆ ว่าเราอยากเห็นกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยเป็นอย่างไร เราอยากได้เมืองปริมณฑลทั้งเดลต้าทั้งหมดนี้เป็นอย่างไร"

เป็นที่มาของ โครงการ "เจ้าพระยาเดลต้า 2040" (Chao Phraya Delta 2040) ซึ่งไม่ได้หมายเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะในมิติทางระบบนิเวศทางสังคม เจ้าพระยาเดลต้าย่อมเชื่อมไปถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ทั้งลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำท่าจีน ทั้งหมดจะส่งผลกระทบกันหมดไปจนถึงอ่าวไทย

"การจะบริหารจัดการน้ำ เราจะคุยกันแต่ว่าน้ำทะเลจะขึ้น แล้วเสนอว่าจะต้องทำเขื่อน ทำนั่นทำนี่ โดยมองแต่มิติเดียว แต่ไม่มีการมาฝันร่วมกัน หรือ เราต้องการไม่ให้กรุงเทพฯ น้ำท่วม ไม่ต้องการให้ปริมณฑลน้ำท่วม เราพยายามจะสร้างทางผันน้ำลงสู่ทะเล แต่มีใครถามไหมว่า ปลาทูจะตายหรือเปล่า เมื่อมีน้ำจืดปริมาณมากไหลลงมาที่ทะเล ระบบนิเวศที่อ่าวไทยจะเป็นอย่างไร"

157439338847

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าประเด็นกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้ทะเลในอีก 30 ปีข้างหน้า ที่ถูกจุดกระแสขึ้น สิ่งที่เร่งปฏิกิริยาให้เกิดดราม่าขึ้นบนสื่อโซเชียลคือ การประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปเกาะบอร์เนียว ของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายโจโก วิโดโด แต่ถ้าพิจารณาไปที่เมืองชายทะเล เช่น มัลดีฟส์ เมียนมา ฟิลิปปินส์ ซึ่ง รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ได้เดินทางไปสำรวจหลายๆ พื้นที่ในประเทศเหล่านี้แล้ว ได้ตั้งข้อสังเกตชวนให้คิดว่า

"เมืองชายทะเลเหล่านี้ ล้วนมีการพัฒนาเมืองสวนทางกับข่าวที่เกิดขึ้น อย่างกรณีที่ประเทศศรีลังกามีการถมทะเลทำเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ส่วนที่จาการ์ตาพบว่ามีเกาะที่ขยายออกไปจากเมืองหลวง มีการถมทะเลเพื่อสร้างเมืองใหม่ หรืออย่างกรณีเกาะมัลดีฟส์ ซึ่งมีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ต่างจากประเทศไทย กลับมีนักลงทุนจากทั่วโลกแห่กันเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล แล้วทำไมเขาไม่กลัวน้ำท่วม?  ฉะนั้นประเด็นเหล่านี้ เราต้องดูให้ชัดว่า มันถูกขยายความออกไปจนกลายเป็นเรื่องเหนือความเป็นจริงหรือไม่?"

ถามว่าแล้วกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้ทะเลอย่างจาการ์ตาไหม?

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ขยายความเจาะลึกลงไปที่ "ชั้นดิน" ว่า "กรุงจาการ์ตามีชั้นดินไม่เหมือนประเทศไทย ที่จาการ์ตาดินไม่ดี มีชั้นดินที่หนากว่า แต่อ่อนกว่า ลงเสาเข็มไปอย่างไรก็ทรุด แต่ที่กรุงเทพฯ เราลงเสาเข็มไป 20 กว่าเมตรก็เจอดินแข็งแล้ว จึงไม่ทำให้อาคารเกิดการทรุดตัว นั่นคือประเด็นแรก

157439354951

ประเด็นที่ 2 เรื่องการสูบน้ำบาดาลมากเกินไปทำให้เกิดการทรุดตัว กรณีนี้ถ้าไปดูข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลซึ่งมีการทำหมุดวัดระดับการทรุดตัวของกรุงเทพฯ กระจายไปทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าระดับการทรุดตัวเป็นศูนย์หลายตำแหน่ง เพราะมาตรการจำกัดการใช้น้ำบาดาล รวมถึงการจัดการให้ทุกพื้นที่มีน้ำประปาใช้ทั่วถึง ทำให้ไม่มีการทรุดตัวของพื้นดินเพิ่มอีก โดยเมื่อก่อนที่ทรุดไปแล้วประมาณ 5-100 ซ.ม. เช่น แถวถนนรามคำแหง สุขุมวิท บางจุดที่จะพบว่าฝนตกเมื่อใดจะเกิดน้ำท่วมขังรอการระบาย"

157439374478

กรณีของจาการ์ตา รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ บอกว่า "ดินทรุด"เป็นเหตุผลเพียงส่วนเดียว เหตุสำคัญที่นำมาเทียบเคียงกับเจ้าพระยาเดลต้าได้ก็คือ "การกระจายความเสี่ยงของเมือง" เนื่องจากปัจจุบันเมืองที่เป็นที่ทำการรัฐ กับเมืองที่เป็นเศรษฐกิจของประเทศอยู่ด้วยกัน การย้ายเมืองหลวงออกจึงง่ายต่อการบริหารจัดการกว่า ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยพื้นที่และสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ

ส่วนที่ 2 คือ แผ่นดินทรุด ซึ่งจาการ์ต้าก็ยังเผชิญอยู่ แต่ไม่มากตามที่เป็นข่าว แต่ปัญหาหนักคือ"คุณภาพของน้ำ"การที่มีแม่น้ำ 13 สายไหลเข้ามาที่จาการ์ต้า แต่เป็นน้ำที่มีคุณภาพต่ำมาก ตามถนนหาทางตลอดจนในชุมชนแออัดล้วนเต็มไปด้วยน้ำเสีย การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการเรื่องของคน ทุกอย่างขมวดเป็นปมใหญ่เหมือนเชือกยากที่จะแก้ สุดท้ายแล้ว "การย้าย" น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

"ผมเข้าใจว่ากรณีที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เคยพูดถึงประเด็นนี้ ไม่ใช่การย้ายเมืองหลวง แต่คือการทำอย่างไรให้เกิดการกระจายตัว" ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี บอกและว่า"กรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องย้าย แต่ทำให้ดีขึ้นได้"

สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องเอาสิ่งที่กังวลใจคือ เรื่องน้ำท่วมจากน้ำเหนือและน้ำฝน ทั้งสองอย่างนี้ต้องหาวิธีแก้ให้ได้ก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยมากมายที่ทำได้ เพียงแต่เราต้องเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเหล่านี้มาวาง แล้วเอาวัฒนธรรมรวมเข้าไป เช่น ถ้าอยากให้พื้นที่หนึ่งเป็นแก้มลิง ทำอย่างไรให้พื้นที่นั้นน่าอยู่ แล้วชูวัฒนธรรมเข้าไปผสมผสาน คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่อยู่มีความสุขนี่คือหัวใจหลัก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องเริ่มจากการฝันร่วมกันก่อน เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดและเราไม่เคยทำมาก่อนเลยในประเทศไทย เราไม่เคยคุยกันว่าเราอยากจะมีประเทศเราเป็นอย่างไร เพื่อว่าการทำงานแบบเข็มมุ่งจะไปได้ถูกทิศถูกทาง และได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้

"นั่นเพราะในเชิงเทคนิคเราสามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมาเราเจอปัญหาขัดแย้ง เนื่องจากเราไม่ได้มีความฝันอันเดียวกัน" รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ สรุปทิ้งท้าย

สำหรับ โครงการ "เจ้าพระยาเดลต้า 2040" (Chao Phraya Delta 2040) เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ซึ่งเป็นการบริหารงานวิจัยแบบใหม่ที่ก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้ประเทศ มีทรัพยากรน้ำทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่สามารถรองรับการเติบโตในอนาคต