‘ทรัมป์‘สวีท ’ทิม คุก’ปรับสัมพันธ์ธุรกิจไฮเทค

‘ทรัมป์‘สวีท ’ทิม คุก’ปรับสัมพันธ์ธุรกิจไฮเทค

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไปเยือนโรงงานผลิตของแอ๊ปเปิ้ลที่รัฐเท็กซัส เมื่อวันพุธ (20 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ถือเป็นการสงบศึกระหว่างทำเนียบขาวกับซิลิคอนวัลเลย์ชั่วคราว และได้เห็นทรัมป์กับทิม คุก ผู้บริหารแอ๊ปเปิ้ลสวีทกันอย่างไม่น่าเชื่อ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การมาเยือนโรงงานแอ๊ปเปิ้ลครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ทรัมป์ ได้ชื่นชมการผลิตของอเมริกา และลดท่าทีแข็งกร้าว (อย่างน้อยก็ชั่วคราว) ต่อบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ รวมทั้งแอ๊ปเปิ้ล ที่เขาเคยวิจารณ์เสมอมาเรื่องการผลิตสินค้าจากต่างประเทศ

ระหว่างยืนเคียงข้างกันทรัมป์ชมผู้บริหารแอ๊ปเปิ้ลเสียยกใหญ่ “เขาเป็นคนพิเศษมากๆ เท่าที่ประเทศนี้เคยมี” พร้อมเสริมว่า คุกทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่

“โรงงานนี้ผลิตสินค้าสุดเจ๋ง ถ้าคุณผลิตในสหรัฐ คุณก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษี” ทรัมป์กล่าวพาดพิงสงครามการค้าที่ทำกับจีน

เมื่อเดือน ก.ย.แอ๊ปเปิ้ลประกาศว่า จะยังคงผลิตคอมพิวเตอร์แมคโปรในสหรัฐต่อไป หลังจากส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ไฮเทครุ่นนี้บางตัวได้รับการยกเว้นภาษี

ท่าทีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับคุกผิดแผกไปจากเดิม สวนทางกับที่ประธานาธิบดีเคยโจมตีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อื่นๆ

แม้แต่โรเจอร์ เคย์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอนด์พอยท์ เทคโนโลยีส์ แอสโซซิเอตส์ ผู้ติดตามอุตสาหกรรมไฮเทคก็ยอมรับว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีทีท่ามาก่อน คุก ที่สนับสนุนฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งปี 2559 ใช้การทูตที่เยี่ยมยอด หลบเลี่ยงความโกรธของทรัมป์ไปได้

“เขาไม่พูดว่า ผมรักทรัมป์ แต่ก็ไม่ได้พูดว่า ผมเกลียดทรัมป์ ไม่ได้แสดงความเห็นใดชวนโมโหใดๆ ต่อหน้าสื่อ จึงไม่ทำให้ทรัมป์ขุ่นเคือง”

อย่างไรก็ตาม ทั้งคุกและทรัมป์ยังคงเห็นต่างกันในหลายประเด็น เช่น การค้าและการเข้าเมือง แอ๊ปเปิ้ลไม่เห็นด้วยกับแผนการของทำเนียบขาวที่เลิกคุ้มครอง “ดรีมเมอร์” หรือคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในสหรัฐตั้งแต่ยังเด็ก

ขณะเดียวกันแอ๊ปเปิ้ลก็รู้ดีว่า ตนต้องจ่ายภาษีที่ทรัมป์เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีน แต่นับจนถึงขณะนี้แอ๊ปเปิ้ลที่เป็นผู้ผลิตไอโฟน ยังไม่เจอผลกระทบใหญ่จากข้อพิพาทการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจ

ทรัมป์ ที่ตัดพ้อกูเกิลและบริษัทโซเชียลมีเดียอื่นๆ ว่าอคติ ทั้งยังวิจารณ์เจฟฟ์ เบซอส ซีอีโอ อเมซอนว่า ลงทุนในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เพื่อการเมืองล้วนๆ งานนี้เขายกย่องซีอีโอแอ๊ปเปิ้ลมาก

เมื่อเดือน ส.ค.ทรัมป์กล่าวว่า บริษัทอื่นๆ ว่าจ้างที่ปรึกษาราคาแพงหูฉี่ “แต่มีอยู่คนเดียวที่โทรหาผม เขาคือทิม คุก โทรหาผมทุกครั้งที่เขามีปัญหา”

ดูเหมือนว่าทรัมป์ที่ครั้งหนึี่งเคยเรียกซีอีโอรายนี้ว่า “ทิม แอ๊ปเปิ้ล” พยายามสร้างสัมพันธ์ฉันมิตรกับคุก แม้ว่าจะวิจารณ์เขาไปด้วย โดยทวีตข้อความวิจารณ์ดีไซน์ของไอโฟนรุ่นล่าสุดที่ไม่มีปุ่มโฮม

"“ถึงทิม: ปุ่มโฮมบนไอโฟนนั้นดีกว่าการปัดหน้าจอเยอะ!”

ส่วนคุกนั้น วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า เขาแอบบ่มเพาะสัมพันธ์กับทรัมป์ผ่านทางอิวานกา บุตรสาว และจาเรด คุชเนอร์ สามีของเธอ ทั้งคู่เป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดี

การพบกันครั้งนี้จุดยืนของทรัมป์เรื่องภาษีดูเหมือนอ่อนลง หลังจากได้ฟังคำโต้แย้งของคุกที่ว่า การลงโทษแอ๊ปเปิ้ลอาจไปช่วยหนุนคู่แข่งต่างชาติอย่างซัมซุง

บ็อบ โอดอนเนลล์ จากเทคนาไลสิส รีเสิร์ช กล่าวว่า ทิม คุก เดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีทรัมป์เพราะกังวลเรื่องผลกระทบต่อธุรกิจจากนโยบายของทรัมป์ เนื่องจากสินค้าแอ๊ปเปิ้ลส่วนใหญ่ผลิตในจีน “จึงเป็นไปได้ว่าจะส่งผลเสียต่อความสามารถในการทำกำไรได้มาก ทิม คุก พยายามเป็นนักปฏิบัตินิยม และพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการจัดการกับสิ่งที่เจอ”

จะว่าไปแล้วแอ๊ปเปิ้ลก็ได้ประโยชน์ตอนที่ทรัมป์ลดภาษีจากกำไรที่ส่งกลับประเทศ จาก 35% เหลือ 15% ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงตอบสนองความพยายามของทำเนียบขาว ประกาศลงทุน 3.5 แสนล้านดอลลาร์ในสหรัฐภายในปี 2567 จากการผลิตด้วยตนเองหรือจากซัพพลายเออร์

แต่โอดอนเนลล์ก็ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ความพยายามของคุกในการสร้างไมตรีกับทรัมป์ ก็สร้างความเสี่ยงในแวดวงซิลิคอนวัลเลย์ด้วยเช่นกัน เพราะที่นั่นไม่ค่อยชื่นชอบประธานาธิบดีรายนี้

“ผมคิดว่าคนที่เป็นแฟนแอ๊ปเปิ้ล แต่ไม่ชอบประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะอึดอัดใจเล็กน้อย” นักวิเคราะห์รายนี้กล่าว

อย่างไรก็ตาม เคย์มองว่า พนักงานและลูกค้าแอ๊ปเปิ้ลเข้าใจดีถึงความจำเป็นของบริษัท และความพยายามของคุกอาจช่วยบรรเทาความตึงเครียดระหว่างทำเนียบขาวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้

“เผลอๆ ทิมอาจสร้างความรุ่งเรืองให้กับซิลิคอนวัลเลย์ ถ้าเขาอธิบายเรื่องของซิลิคอน วัลเลย์ให้เข้าใจก็อาจทำให้ทรัมป์เปลี่ยนความคิดได้บ้าง”