ดับบลิวเอชเอตั้งนิคมฯจีน หวังดึงทุนเข้าอีอีซีแสนล้าน

ดับบลิวเอชเอตั้งนิคมฯจีน หวังดึงทุนเข้าอีอีซีแสนล้าน

สถานการณ์ทางการค้าและการลงทุนของโลก ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายอย่างทั้งสงครามการค้า ภาวะความไม่สงบจากปัญหาทางการเมืองในบางประเทศนั้นทำให้การความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนกำลังขยับ และขับเคลื่อนเปลี่ยนฐานการผลิต และห่วงโซ่การผลิตของโลกอีกครั้้ง

จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรองประธานกรรมการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยถึงแผนการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า ดับบลิวเอชเอ ได้ขยายการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี อย่างต่อเนื่อง โดยได้ตั้งเป้าหมายในปี 2563 ถึงปี 2567 จะใช้งบลงทุนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ใน 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. โลจิสติกส์และคลังสินค้า 2. นิคมอุตสาหกรรม 3. สาธารณูปโภคและพลังงาน ซึ่งได้ผลิตน้ำขายในนิคมฯและบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งยังมีโรงไฟฟ้า โซลาร์รูฟท็อป และจะทำสมาร์ทกริดในพื้นที่นิคมฯ และ4. ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเข้ามาช่วยสนับสนุนทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจในด้านดิจิทัล

โดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ดับบลิวเอชเอมีนิคมฯทั้งหมด 11 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในเวียดนาม 1 แห่ง อยู่ที่ จ.สระบุรี 1 แห่ง และในอีอีซีอีก 9 แห่ง และในปี 2563 จะลงทุนตั้งนิคมฯในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มอีก 1 แห่ง คือ ดับบลิวเอชเอ อาร์36 ซึ่งจะเป็นนิคมฯแห่งที่ 10 ในอีอีซี มีพื้นที่ 1.3 พันไร่ เป็นพื้นที่ขายประมาณ 1 พันไร่ โดยดับบลิวเอชเอ จะเร่งยกระดับนิคมฯในไทยทั้ง 11 เป็นเป็นสมาร์ทซิตี้ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมไฮเทคต่างๆ ที่ต้องการระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัย

นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาเจรจาขอร่วมลงทุนตั้งนิคมฯ เพื่อจัดทำพื้นที่อุตสาหกรรมสำหรับนักลงทุนจีนโดยเฉพาะ ซึ่งมองว่าผลสรุปน่าจะเป็นการแบ่งพื้นที่โซนนิ่งสำหรับนักลงทุนจีน

เนื่องจากการเข้ามาร่วมลงทุนจะมีความยุ่งยากมากกว่า โดยนิคมฯจีนจะกระจายไปอยู่ในพื้นที่นิคมฯต่างๆของดับบลิวเอชเอใน อีอีซี คาดว่าจะมีพื้นที่รวมประมาณ 2 พันไร่ อุตสาหกรรมจีนที่จะเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

“พื้นที่นิคมทั้ง 9 แห่ง ในอีอีซี มียอดขายไปแล้วประมาณ 3.5 หมื่นไร่ มีลูกค้ากว่า 1 พันราย คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งในแต่ละนิคมฯจะออกแบบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล 12 กลุ่ม รวมทั้งจะทำพื้นที่เพื่อรองรับไซแอนพาร์ครองรับการลงทุนพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ และสตาร์ทอัพของไทย รวมทั้งยังได้วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5 จี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่”

จรีพร กล่าวว่า ยอดขายที่ดินในนิคมฯของดับบลิวเอชเอปีนี้ ล่าสุดมียอดขายพื้นที่ไปแล้ว 1.2 พันไร่ ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ และกำลังลุ้นว่ายอดรวมถึงสิ้นปีน่าจะถึง 1.4 พันไร่ โดยแนวโน้มการลงทุนในขณะนี้ผู้ประกอบการจากจีนได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นมาก 

โดยในปีนี้คาดว่าลูกค้าจะมาจากจีนมากกว่า 50% ส่งผลให้ยอดนักลงทุนสะสมในนิคมฯของดับบลิวเอชเอ สัดส่วนนักลงทุนจากจีนเพิ่มขึ้นจาก 3-4% ในช่วงปี 2560 เพิ่มเป็น 10% ในปีนี้ ส่วนอันดับ 1 ยังเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วน 34% ลดลงจากเดิมที่มีสัดส่วน 38% ซึ่งในปีนี้ได้มีคณะนักธุรกิจจากจีนเข้ามาหารือในเรื่องการลงทุนเป็นจำนวนมาก และเร็วๆนี้จะมีคณะนักลงทุนจากนครฉางชุนเข้ามาหารือ ซึ่งเมืองนี้จะโดดเด่นในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์

นอกจากนี้ ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ จะมีคณะนักลงทุนจากฮ่องกงกว่า 60 ราย จะเข้ามาหารือลู่ทางการลงทุนในไทย โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากในช่วงต้นปีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือความร่วมมือกับนางแครี แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ในเรื่องความร่วมมือด้านการลงทุนกับฮ่องกง มณฑลกวางตุ้ง และเมืองเซินเจิ้น ในการเข้ามาลงทุนในอีอีซี โดยมองว่าเหตุความไม่สงบในฮ่องกงที่ทวีความรุนแรง เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญทำให้ผู้ประกอบการสนใจย้ายฐานเข้ามาลงทุนในไทยเร็วขึ้น และมีจำนวนมากขึ้น

 

“ในขณะนี้จีนเป็นประเทศที่ส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในโลกมีสัดส่วน 31% ขณะที่ฮ่องกงมีสัดส่วน 14% ส่วนไทยมีสัดส่วน 4-5% ใกล้เคียงกับประเทศเวียดนาม ซึ่งแรงกดดันจากสงครามการค้า และความรุนแรงในฮ่องกง ทำให้ผู้ประกอบการจีนและฮ่องกงตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยได้เร็วขึ้น เพราะหากไม่เร่งหาฐานการผลิตใหม่ก็จะกระทบต่อซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก โดยกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้หากเป็นการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานจำนวนมากก็จะย้ายไปเวียดนาม ส่วนสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงส่วนใหญ่จะเข้ามาลงทุนที่ไทย”

สาเหตุหลักที่นักลงทุนเข้ามาในนิคมฯดับบลิวเอชเอเพิ่มขึ้น มาจากนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันการลงทุน และเข้ามาลงทุนโครงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ใน อีอีซี ซึ่งช่วยแก้ปัญหาของไทยในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้พัฒนามานานกว่า 10 ปี โดยโครงการ อีอีซี ได้เข้ามาแก้ไขจุดบกพร่องเหล่านี้ 

รวมทั้งการพัฒนาอีอีซี ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะประเทศไทย แต่อีอีซี จะเชื่อมเส้นทางเบลท์แอนด์โรดของจีน จากมณฑลคุนหมิงที่เป็นเกตเวย์ที่สำคัญของจีนที่เชื่อมมายังอาเซียน รวมทั้งยังขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเติบโตไปด้วยกัน

ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติจะสอบถามในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเห็นเรื่องหลัก รองลงมาเป็นเรื่องเมืองที่จะเข้ามาพักอาศัย และแรงงานที่จะเข้ามา ดังนั้นในอีอีซี จึงได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับแล้ว และอยู่ระหว่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อรองรับนักลงทุนและครอบครัวที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะต้องมีโรงเรียน โรงพยาบาล และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยโครงการเหล่านี้จะเข้ามาตอบสนองความต้องการของนักลงทุนได้ตรงจุด