'พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ' แนวทางภาคบังคับ กมธ.

'พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ' แนวทางภาคบังคับ กมธ.

จากประเด็นที่กำลังเป็นคำถามถึงขอบเขตอำนาจของคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาฯ ที่ระบุไว้ ตามพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ. ปี 2554 หลังเกิดกรณี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ไม่ไปชี้แจงด้วยตัวเองมาแล้ว 3 ครั้ง

วิลาศ จันทร์พิทักษ์อดีตประธาน กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ.สภาฯ ปี 2550 หลังต้องประสบกับอุปสรรคในด้านความร่วมมือจากผู้ถูกตรวจสอบในชั้น กมธ. เมื่อช่วงปี 2550 และเป็นที่มาของการร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้อธิบายถึงแนวทางปฏิบัติและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนี้ ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบัน ผ่านรายการนิวส์ทอล์ค

“ถ้าย้อนดูรายละเอียดของกฎหมายจะเห็นชัดว่า กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนพอสมควรกับเรื่องที่ถกกันในตอนนี้ 2 เรื่อง คือ 1.กฎหมายฉบับนี้ยังใช้ได้กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ กับ 2.การเชิญของกมธ. ป.ป.ช.ที่เป็นอยู่ตอนนี้ เป็นการออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ.สภาฯ ปี 2550 หรือยัง”

สำหรับประเด็นแรก ความเห็นส่วนตัวมองว่า ยังใช้ได้เพราะตามหลักกฎหมายใดๆ จะใช้ไม่ได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายฉบับนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ(รธน.) แต่โดยพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ.สภาฯ ปี 2550 ที่ออกตาม รธน.ปี 2550 ระบุในมาตรา 135 ให้ กมธ.มีอำนาจและหน้าที่สอบสวนและศึกษา แต่ พ.ร.บ.ที่ออกตาม รธน.ปี 2560 ระบุในมาตรา 129 ให้ กมธ.มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนข้อเท็จจริงและศึกษา ซึ่งคำว่า “สอบสวน” กับ “สอบข้อเท็จจริง” มันต่างกันตรงไหน

ประเด็นต่อมากับอำนาจบังคับให้มาชี้แจงนั้นเป็นเช่นไร อดีตประธาน กมธ.ป.ป.ช.ระบุว่า การไม่มาพบ กมธ.แล้วให้เหตุผล พร้อมส่งตัวแทนมานั้น จริงๆ แล้วทำได้ แต่ตามกฎหมายวางแนวทางไว้ว่า เมื่อ กมธ.ต้องการเรียกมาพบ ต้องทำหนังสือถึงรัฐมนตรี แล้วรัฐมนตรีก็ต้องสั่งให้มา แต่ในบางครั้งสั่งแล้วมีการ “ขยิบตา” จึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ.สภาฯ ปี 2550

จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกตาม รธน.ปี 2550 แต่ทำไมมาประกาศบังคับใช้ปี 2554 นั่นเพราะช่วงที่ตนเป็นประธาน กมธ.ป.ป.ช. ในปี 2551 - 2552 เริ่มเห็นปัญหามากขึ้น ถึงการไม่มาตามนัด 

มีการดึงเรื่อง เลื่อนนัด ทำให้เสียเวลา แทนที่จะได้สอบเรื่องอื่น จนเราไม่สามารถรอให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายขึ้นมา  ซึ่งในอดีตการทำงาน กมธ.คณะที่ให้คุณให้โทษได้ ก็น่าจะมีเพียง กมธ.ป.ป.ช.และ กมธ.ติดตามงบประมาณฯ ที่พอจะมองเห็นปัญหาทำนองเดียวกัน จึงเห็นว่า ควรเสนอกฎหมายเอง

“ก็คุยกับรองประธานสภาฯ เจริญ จรรย์โกมล ว่าเห็นควรต้องทำเสนอในนามพวกเรา ก็ร่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้มีกฎหมายทำงาน แล้วร่างกฎหมายนี้ก็ไปรอคิว จนใกล้ถึงคิวรัฐบาลก็ส่งร่างฯมาประกบ วันนั้นผมเป็นคนเสนอร่างฯของสมาชิกสภาฯ ประกบกับรัฐบาล ซึ่งกว่าจะผ่านก็ยากมาก เพราะเสียงรัฐบาลข้างมาก ถึงแม้ผมจะสังกัดประชาธิปัตย์ที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล ที่ขอมติจากพรรคมาแล้วก็ตาม แต่พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย” 

 

“วิลาศ” ระบุชัดว่า คำสั่งเรียกของ กมธ .ถือเป็นภาคบังคับที่มีกระบวนการ โดยเป็นมติที่ผ่านการพิจารณาเหตุผลการไม่มาของผู้ถูกเรียกชี้แจง โดยกระบวนการจะเริ่มต้นตั้งแต่การเชิญ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้สองทาง คือมากับไม่มา หากผู้ถูกเรียกไม่มา ก็ต้องบอกเหตุผลเพื่อให้ กมธ.นำเหตุผลนั้นมาพิจารณาว่าสมควรรับฟังหรือไม่ ถ้าพอมีเหตุผลให้รับฟังก็เชิญอีกครั้ง แต่หากไม่สมควรรับฟัง ก็จะประชุมเพื่อขอมติออกคำสั่งเรียก พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ.สภาฯ ปี 2550”

จริงๆ แล้ว มติดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ผู้ถูกเรียกไม่มาในครั้งแรก เพื่อพิจารณาออกคำสั่งในครั้งที่ 2 แต่สำหรับ มติ 6 ต่อ 3 ในการเชิญนายกฯ ครั้งที่ 4 ของ กมธ.ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 ที่ผ่านมานั้น ไม่มั่นใจว่า มติดังกล่าวได้ผ่านการอภิปรายถึงข้อดีข้อเสีย จากการส่งตัวแทนมาชี้แจงหรือไม่อย่างไร 

ตามแนวทางออกคำสั่งตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของ กมธ.ปี 2550 นั้น ประธาน กมธ.จะถามในที่ประชุมเพื่อขอมติดังกล่าว และต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ซึ่งวันนี้ กมธ.ป.ป.ช.มีกรรมาธิการทั้งหมด 18 คน ก็เท่ากับว่าต้องมีมติ 8 ต่อ

ทั้งนี้ การเชิญครั้งล่าสุด หากผู้ถูกเรียกไม่มาอีก วิลาศแนะนำ กมธ.ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันว่า ตามมาตรา 16 ระบุ เมื่อมีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ประธาน กมธ.มีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ซึ่งทางตำรวจก็จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา เพื่อสอบสวนว่ามีเจตนาหรือจงใจฝ่าฝืนคำสั่งมากน้อยเพียงใด

มองในมุมมองทางการเมือง เชื่อว่า อย่างไรแล้วทั้งนายกฯ และรองนายกฯ น่าจะไม่มา แต่ปัญหาอยู่ที่ กมธ.ฝ่ายที่จะออกคำสั่งเรียก จะมีถึง 8 เสียงหรือไม่ โดย กมธ.ชุดนี้ มีเสียงจากฝ่ายค้านและรัฐบาลในสัดส่วนใกล้กัน คือ 8 ต่อ 7 ซึ่งตามมารยาทแล้ว ประธาน กมธ.จะไม่ร่วมโหวต แต่เรื่องนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

ส่วนการเสนอเปลี่ยนตัวประธาน กมธ.นั้นวิลาศระบุว่า ความเห็นส่วนตัวมองว่าทำไม่ได้ เนื่องจากประธาน กมธ.ไม่มีข้อบังคับให้ปลด หรือให้โหวตออก จึงต้องอยู่ให้ครบเทอม อีกทั้งยังเป็นโควตาของแต่ละพรรคการเมืองด้วย ยกตัวอย่าง ประธานสภาฯ ที่มีวาระ 2 ปี แล้วให้โหวตใหม่แต่ใน กมธ.ไม่มีเขียนไว้ แม้การแต่งตั้งจะเป็นเรื่องในคณะกรรมาธิการ แต่ก็ไม่ได้เขียนไว้ว่าสามารถโหวตเปลี่ยนได้ และอีกประเด็น กมธ.มีโควตารัฐบาล ฝ่ายค้าน ถ้าเปลี่ยนตัวประธานได้ จะมีประโยชน์อะไร เพราะถึงอย่างไรประธานก็ต้องเป็นโควตาของฝ่ายค้าน

157434358871

สำหรับการทำงาน กมธ.ป.ป.ช.ชุดนี้ ที่มีปัญหาอย่างหนักและถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ วิลาศ มองว่า 

"เนื่องจาก กมธ.ชุดปัจจุบัน เป็นส.ส.ใหม่ ค่อนข้างมาก ไม่มีประสบการณ์การทำงานตรวจสอบ จึงอาจจะมีปัญหาบ้าง ต่างกับในอดีต ที่กมธ.นี้ จะมีส.ส.อาวุโส อยู่ในคณะนี้เป็นหลัก เวลาคุยกันทำงานด้วยกันทุกคนจะเข้าใจประเด็นและยอมรับว่าใน กมธ.ต้องสละเรื่องของพรรค การเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หากเห็นเรื่องทุจริตก็ต้องลุยโดยไม่ละเว้นใครทั้งสิ้น" อดีตประธาน กมธ.ป.ป.ช.สภาฯ ทิ้งท้าย