ปี2563"พาณิชย์" คาดส่งออกพลิกกลับมาเป็นบวก2% ส่วนปีนี้ยอมรับแล้วติดลบ1.5-2%

ปี2563"พาณิชย์" คาดส่งออกพลิกกลับมาเป็นบวก2% ส่วนปีนี้ยอมรับแล้วติดลบ1.5-2%

“พาณิชย์” ประเมินส่งออกปี2563 กลับมาเป็นบวกได้ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2%  หลังจากปีนี้ คาดว่า ติดลบ1.5-2%  ส่วนตลาดสหรัฐ –ญี่ปุ่น ขยายตัวมากกว่า 4%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนต.ค. 2562  ว่า การส่งออกไทย เดือน ต.ค.2562 ติดลบ4.54 % มีมูลค่า 2.08 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ ติดลบ7.6% ทำให้เกินดุลการค้า 507 ล้านดอลลาร์

ส่วนการส่งออก 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มูลค่า 2.07 แสนล้านดอลลาร์  ติดลบ 2.4%  นำเข้า 1.99 แสนล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.1% ทำให้เกินดุลการค้า 7,888 ล้านดอลลาร์

“กระทรวงพาณิชย์คาดว่าทั้งปีการส่งออกของไทยน่าจะติดลบ 1.5 -2 % จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 0% และในปี 2563 การส่งออกของไทยจะกลับมาบวกได้ จากปัจจัย การปรับตัวของผู้ประกอบการต่อภาวะสงครามการค้า การทำตลาดใหม่ และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับทรงตัว ส่วนเป้าหมายปีหน้าคาดว่า ส่งออกขยายตัวอย่างน้อย 2%”

สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐ ขยายตัว 4.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ตลาดญี่ปุ่นขยายตัว 0.5% อย่างไรก็ตาม พบว่าตลาดจีน ติดลบ 4.2% สหภาพยุโรป ติดลบ 8.8%  CLMV ติดลบ 9.9%  เอเชียใต้ ติดลบ 24% อินเดียติดลบ 3.7%

157431813086

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า การส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ มีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าเกษตรและเกษตรอาหาร เช่น น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ

เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และนาฬิกาและส่วนประกอบ นอกจากนี้ วัฎจักรการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาเป็นบวกในรอบ 13 เดือน และใกล้เคียงมูลค่าช่วงก่อนมาตรการภาษีภายใต้สงครามการค้ามีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.ย. 61 เช่นเดียวกับแผงวงจรไฟฟ้าที่เริ่มกลับมาขยายตัว

ขณะที่แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562 ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเริ่มขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายปี นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงรายภูมิภาค/ประเทศ และด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า ยังเป็นปัจจัยกดดันการค้าและการส่งออกไทย

ในระยะสั้น-กลาง อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไปได้บ้าง โดยผู้ส่งออกอาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง

ในระยะที่ผ่านมา การส่งออกไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ สะท้อนพื้นฐานการส่งออกที่ดีและมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวและกระจายการส่งออกในสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ทั้งในตลาดเดิม และตลาดศักยภาพใหม่