อีคอมเมิร์ซจีน 'บีทูซี vs ซีทูซี' รูปแบบไหนมาแรงกว่ากัน?

อีคอมเมิร์ซจีน 'บีทูซี vs ซีทูซี' รูปแบบไหนมาแรงกว่ากัน?

รู้หรือไม่อีคอมเมิร์ซรูปแบบใดในจีนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า ระหว่าง บีทูซี ส่งตรงจากแบรนด์สินค้า หรือ ซีทูซี ที่ผู้เล่นรายย่อยหรือผู้บริโภคเข้ามาทดลองตลาด

รูปแบบอีคอมเมิร์ซทั้ง "บีทูซี (Business-to-Consumer)" และ "ซีทูซี (Consumer-to-Consumer)" กำลังได้รับความนิยมและเป็นเทรนด์กระแสหลักของจีน แต่ละประเภทมีความแตกต่าง ลักษณะของประเภทสินค้า และบริการที่เหมาะกับแต่ละช่องที่ต่างกันไป ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญ ที่ผู้ประกอบการไทยควรอัพเดท หากต้องการบุกตลาดออนไลน์จีน

เบื้องต้นมารู้จักความแตกต่างของทั้งสองช่องทางกันเพิ่มเติมครับ ว่ามีจุดเด่นแบบไหนบ้าง และแบบไหนที่กำลังมาแรงมากกว่ากัน โดย "บีทูซี" เป็นหนึ่งในรูปแบบของการทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นการผสมผสานข้อเด่นระหว่างการตลาดออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน โดยเป็นการสื่อสารระหว่าง ผู้ผลิต หรือเจ้าของธุรกิจ กับผู้บริโภค ตามชื่อเรียกนั่นเอง

โดยรูปแบบแล้ว เว็บแบบบีทูซี คือการที่แบรนด์จะเป็นผู้ขายสินค้าให้ผู้บริโภคทั่วไปผ่านทางเว็บอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเจ้าของแบรนด์หรือบริษัทก็ต้องมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือเป็นกิจการที่มียี่ห้อสินค้าเป็นของตนเอง ไม่ได้เป็นผู้ค้าอิสระ

ข้อดีที่สำคัญของบีทูซี คือ การมีแบรนด์สินค้า จึงเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าได้มากกว่า ที่สำคัญคือสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้ ซึ่งแน่นอนว่าเวลานี้ช่องทางดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศจีน โดยเว็บอีคอมเมิร์ซแบบบีทูซีที่ได้รับความนิยม เช่น ทีมอลล์ และเจดีดอทคอม ไชน่าอินเทอร์เน็ตวอทช์ระบุว่า มูลค่ารวมของอีคอมเมิร์ซแบบบีทูซีในจีนกำลังทะยานขึ้นไปแตะหลัก 2.26 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงของเว็บบีทูซี ได้แก่ เสื้อผ้า แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง สกินแคร์ ไปจนถึงกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันเว็บไซต์ทีมอลล์ในเครือของอาลีบาบาถือว่าเป็นผู้นำตลาด ตามด้วยเจดีดอทคอม ส่วนอันดับอื่นๆ คือ Suning Vipshop และ Gome ซึ่งหากนับเฉพาะแค่ทีมอลล์และเจดีดอทคอม ก็ครองส่วนแบ่งตลาดไปแล้วมากกว่า 81.9% ทำให้เว็บบีทูซีอื่นๆ ดูจะเจาะเข้าไปได้ยาก

ส่วน "ซีทูซี" อีคอมเมิร์ซ สำหรับผู้บริโภคสู่ผู้บริโภค ด้วยรูปแบบนับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถมีหน้าร้านขายของออนไลน์เป็นของตนเองได้อย่างง่ายๆ

รูปแบบนี้จะมีความแตกต่างไปจากบีทูซี เพราะซีทูซีเป็นช่องทางที่ผู้บริโภค หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์รายย่อย หรือผู้ที่ต้องการเริ่มทดลองตลาดบนโลกออนไลน์สามารถเริ่มขายสินค้าในอินเทอร์เน็ตได้

สำหรับในจีนแล้ว กล่าวได้ว่าเป็นช่องทางสำคัญที่คนจีนจะเข้ามาเปิดร้านค้าบนโลกอินเทอร์เน็ตของตนเอง หรือทดลองทำการตลาดทางออนไลน์อย่างง่ายๆ สามารถทำเป็นรายได้เสริม หรือกระทั่งทำเป็นธุรกิจหลักที่สามารถบริหารและขายของเองได้จากในบ้าน เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือมือถือเครื่องเดียวเท่านั้น ที่สำคัญคือหน้าร้านสำหรับเว็บอีคอมเมิร์ซแบบซีทูซีจะไม่มีค่าใช้จ่าย

ด้วยความที่ว่าใครก็สามารถขายของออนไลน์ได้ ทำให้ช่องทางซีทูซีในจีนอยู่ในระหว่างการเติบโตแบบไม่หยุดและเป็นตลาดใหญ่ของโลกเวลานี้ด้วย

ปี 2561 ส่วนแบ่งของช่องทางธุรกิจแบบ "ซีทูซี" ในจีนเติบโตมากขึ้นตามลำดับ ด้วยสัดส่วนมากกว่า 56.2% ซึ่งหากย้อนกลับไปพบว่าสัดส่วนของเมื่อปี 2556 มีเพียงแค่ 40.4% เท่านั้น นับว่าเป็นช่องทางธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตที่มีการเติบโตอย่างมากในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ช่องทางธุรกิจแบบซีทูซีครองส่วนแบ่งมากขึ้น นอกเหนือจากความที่เว็บกลุ่มนี้เป็นที่นิยมและเข้าถึงคนจีนได้ง่ายแล้ว เป็นเพราะนี่คือช่องทางรอดของผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการมีหน้าร้านเป็นของตนเองบนอินเทอร์เน็ต หรืออาจเป็นผู้บริโภคเองที่ต้องการนำสินค้ามาขายเองได้ เช่น ผ่านทางเว็บเถาเป่าในเครืออาลีบาบา ไปจนถึงเว็บช่องทางอื่นที่มีการจับตลาดเฉพาะตัว เช่น เว็บ Pinduoduo ซึ่งเน้นที่ตลาดของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ที่ผ่านมาเว็บอีคอมเมิร์ซแบบ "ซีทูซี" จะได้รับความนิยมจากกลุ่มสินค้าประเภทท้องถิ่น ค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มของเสื้อผ้า ไลฟ์สไตล์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

โดยตั้งแต่ปี 2556 จากเดิมมีมูลค่าราว 1 แสนล้านหยวน เมื่อถึงปี 2560 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 9.85 แสนล้านหยวน อีกปัจจัยบวกคือการยกระดับของบริการจัดส่งสินค้าโลจิสติกส์ที่เข้าถึงผู้คนในชนบทได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น

ด้วยขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนสามารถขายของบนออนไลน์ หรือทำการตลาดบนอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ ส่งผลทำให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น อีกทางหนึ่งอาจแสดงถึงการเข้าถึงของผู้ประกอบการรายย่อย และการเห็นโอกาสของผู้บริโภคเองที่นำสินค้ามาขาย ไม่ว่าจะเพื่อทดลองหรือสร้างรายได้เสริม ที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปบริษัทหรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

ในภาพรวมแล้ว ดูเหมือนว่าซีทูซีจะเป็นช่องทางอีคอมเมิร์ซที่มาแรงมากกว่า ในขณะที่บีทูซีก็มีความยากในแง่ของแบรนด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการขายเช่นกัน