เวทีนี้ไม่มี "คิม จอง อึน" แล้ว "อาเซียน-เกาหลีใต้ซัมมิท” คุยอะไรกัน

เวทีนี้ไม่มี "คิม จอง อึน" แล้ว "อาเซียน-เกาหลีใต้ซัมมิท” คุยอะไรกัน

ซัมมิต “อาเซียน-เกาหลีใต้” เปิดศักราชเศรษฐกิจ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว สมาร์ทซิตี้ และผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัพในอาเซียนให้สามารถเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลก

การประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 25-26 พ.ย. 2562 ณ นครปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ จะเป็นเวทีสุดท้ายที่ประเทศไทยทำหน้าที่ในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 ซึ่งมีความสำคัญต่อการก้าวไปสู่ศักราชใหม่ของอาเซียน-เกาหลีใต้ ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่4

“สุริยา จินดาวงษ์” อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปร่วมประชุมอาเซียน - เกาหลีใต้ซัมมิท สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 โดยจะทำหน้าที่เป็นประธานร่วมกับประธานาธิบดี มุน แจ อินของเกาหลีใต้ เพื่อผลักดันความร่วมมือให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว สมาร์ทซิตี้ และผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกับสตาร์ทอัพในอาเซียนให้สามารถเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลก

สุริยา มองว่า ปัจจัยในเรื่อง “คน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติสุข” จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์อาเซียน - เกาหลีใต้ และเกื้อกูลต่อความร่วมมือใน 3 เสาหลักอาเซียนของ ได้แก่ เสาการเมืองความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมและวัฒนธรรม ให้สามารถดำเนินงานไปสู่การดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2568

“จากการวิเคราะห์ ส่วนตัวมองว่า เกาหลีใต้ได้เร่งฝีเท้าก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งเกาหลีใต้มีต้นทุนทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้สร้างความได้เปรียบ และพร้อมจะร่วมมือกับอาเซียนในเรื่องนี้”นายสุริยา กล่าว

สำหรับการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีการประชุมอาเซียน - เกาหลีใต้ ซีอีโอซัมมิท และเข้าร่วมการประชุมอาเซียน - เกาหลีใต้ สตาร์ทอัพซัมมิท ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานจัดโดยภาคเอกชน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี และสตาร์ทัพได้เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว โดยใช้นวัตกรรมเป็นเรื่องนำทาง และคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมั่นใจได้ว่าประชาชนทุกคนได้รับประโยชน์

เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนเป็นอันดับ3 ในภูมิภาคอาเซียน รองลงมาจากจีน และญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในอาเซียนมากกว่าสหรัฐ สะท้อนให้เห็นความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ ดูได้จากนโยบายมุ่งใต้แบบใหม่ (New Southern Policy) ที่มุ่งสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน โดยตั้งเป้าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2563

สุริยา กล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ จะมีการพูดคุยประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งครั้งนี้ไม่มีนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เป็นแขกคนสำคัญ และเชื่อว่า ทางเกาหลีใต้จะได้ใช้โอกาสนี้เน้นย้ำถึงบทบาทแม้ว่า คนทั่วโลกจะพากันจับตามองท่าทีของสหรัฐกับเกาหลีใต้ แต่สถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ ต้องอาศัยบทบาทของ 2 เกาหลีเป็นสำคัญ อีกด้านหนึ่ง อาเซียนยังคงยืนยันให้การสนับสนุนให้การเจรจาให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อสันติภาพและความมั่นคง

การประชุมครั้งนี้ จะมีการออกเอกสารวิสัยทัศน์ร่วมของอาเซียน -เกาหลีใต้ เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นหุ้นส่วน เพื่อทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และเสนอวิสัยทัศน์มองไปข้างหน้าร่วมอีก 30 ปี โดยมุ่งส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในอนาคต 2 การส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาค เสริมสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยง ส่งเสริมร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม และหุ้นส่วนด้านสังคมและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ ยังมีถ้อยแถลงประธานร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน - เกาหลีใต้ สมัยพิเศษ มุ่งเน้นผลลัพธ์ในการส่งเสริมความร่วมมือ ทั้งด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม ในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน - เกาหลี

อ่านข่าว-นายกเตรียม เอ็มโอยูเกาหลีใต้ ร่วมอีอีซีพัฒนาอุตฯ