'บริติชเคานซิล' สะพานเชื่อมนวัตกรรมอาหาร 2 แผ่นดิน

'บริติชเคานซิล' สะพานเชื่อมนวัตกรรมอาหาร 2 แผ่นดิน

บริติชเคานซิล ผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร ถอดบทเรียนกลยุทธ์การพัฒนานวัตกรรมอาหารและแลกเปลี่ยนความรู้จากเทคโนโลยีการมองอนาคต 10-15 ปี ด้าน “ฟู้ดอินโนโพลิส” ต่อยอดความรู้สองแผ่นดินกําหนดโรดแมพทิศทางอุตสาหกรรมอาหารสู่สากล

แอนดรูว์ กลาส ผู้อํานวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลสภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum (WEF) ชี้ว่า สหราชอาณาจักรจัดอยู่ในอันดับ Top 10 ที่มีความโดดเด่นในการทำงานร่วมกันของภาคการศึกษากับเอกชนจนเกิดการใช้ได้จริงในอุตสาหกรรม จึงนําโมเดลความร่วมมือดังกล่าวมาผลักดันใช้ในประเทศไทย เบื้องต้นจะโฟกัสไปที่อุตสาหกรรมอาหารไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล

สวทช.วางกรอบโรดแมพอุตฯอาหาร

อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้อํานวยการโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า หลังจากได้ทํางานร่วมกับบริติช เคานซิล และทําเวิร์คชอปการมองอนาคต (Foresight) กับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ สหราชอาณาจักร จึงนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็น 4 กลยุทธ์ ของโรดแมพพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารประกอบด้วย 

1.สร้างแพลตฟอร์มระดับชาติเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและยั่งยืน 2. ลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี รวมไปถึงนวัตกรรมอาหารที่ทันสมัยและยั่งยืน 3.สร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติ และ 4.ส่งเสริมภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของอาหารไทยในระดับนานาชาติ

นอกจากนี้หลังจากที่ได้ศึกษารูปแบบการทํางานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจในสหราชอาณาจักร ในประเด็นการประเมินคุณภาพทางสัมผัส และพฤติกรรมผู้บริโภค ทางเมืองนวัตกรรมอาหารได้ร่วมผลักดันให้เกิด ความร่วมมือกันในประเทศไทยอย่างเช่น ความร่วมมือของ บมจ.ไทยยูเนี่ยนกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แชร์องค์ความรู้ ด้านการประเมินประสาทสัมผัสขั้นสูง (advance sensory evaluation)

รวมทั้งการสนับสนุนของบมจ.เอ็มเค เรสโตรองค์ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านประสาทสัมผัส (sensory lab) ตามโมเดลของอังกฤษและแบ่งปันพื้นที่ นี้แก่มหาวิทยาลัยไทยเพื่อใช้ศึกษาเรียนรู้ และพัฒนางานวิจัย รวมไปถึงยังมีอีกหลากหลายมหาวิทยาลัยที่มีแผนในการประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้านประสาทวิทยา เพื่อใช้เป็นหลักในการพัฒนาอาหารจากพฤติกรรมผู้บริโภค

157425941627

ด้าน แอนดรูว์ กลาส ผู้อํานวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติชฯมองเห็นโอกาสจากความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรกับไทยเทียบเคียงกับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคธุรกิจหลากหลายรูปแบบในสหราชอาณาจักร จึงเดินหน้าโครงการ “University-Industry Links” เชื่อมโยงการทํางานระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจโดยร่วมมือกับเมืองนวัตกรรมอาหาร

จากการคาดการณ์ว่าการเกษตรของสหราชอาณาจักรจะเกิดปัญหาขาดแคลน แรงงานวิธีการแก้ปัญหาของมหาวิทยาลัย คือสร้างหุ่นยนต์เก็บสตรอว์เบอร์รีและใส่ เซนเซอร์เพื่อตรวจสอบผลผลิตที่เหมาะ แก่การเก็บเกี่ยวและนี่คือแนวทางที่จะนํา โมเดลเหล่านี้มาร่วมพัฒนาในประเทศไทย โดยจะเน้นการแชร์องค์ความรู้และแนะนํา รูปแบบการทํางานที่ประสบความสําเร็จ เพื่อนํามาเป็นแนวทางในการปรับใช้และ พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร

2 นวัตกรรมจากความร่วมมือ

สําหรับผลงานนวัตกรรมด้านประสาทวิทยา ที่มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้ทํางานวิจัยต่อยอด เพื่อประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพอาหารด้วยหลักการตลาด ได้แก่ห้องทดสอบรูป รส กลิ่นของอาหาร (Sensory Testing Room) ถูกออกแบบปิดเพื่อลดการรบกวนจากปัจจัยอื่นๆ อาทิ อุณหภูมิ กลิ่น แสงไฟ โดยใช้ซอฟต์แวร์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ในการประเมินทดสอบคุณภาพอาหารด้านรสชาติกลิ่นและลักษณะการมองเห็นกายภาพร่วมด้วย

ขณะที่ “แว่นตาตรวจจับโฟกัสสายตา” (Eye Tracking Glasses) เทคโนโลยีเรียนรู้พฤติกรรมการมองเป็นส่วนสําคัญในการวิเคราะห์สัมผัสขั้นสูงโดยการใช้เอไอช่วยตรวจจับการมองจุดโฟกัส ทําให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของพฤติกรรมมนุษย์และการพัฒนาส่วนต่อผสานกับผู้ใช้ (User interface)

ทั้งห้องทดสอบรูปรสกลิ่นอาหาร (Sensory Testing Room) และแว่นตาตรวจจับโฟกัสสายตา (Eye Tracking Glasses) ตัวอย่างงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและภาคธุรกิจ ในสหราชอาณาจักรเพื่อใช้ประเมินคุณภาพทางการสัมผัสและการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และอาหารพร้อมเตรียมสานความร่วมมือมหาวิทยาลัยภาคธุรกิจไทย ผ่านทางเมืองนวัตกรรมอาหารเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยตามโมเดลอังกฤษสู่การพัฒนากลยุทธ์โรดแมพอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ภารกิจบริติช เคานซิล ช่วงปี 2559-2563 ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเรียนการสอนภาษาแต่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ยกระดับความสามารถทางภาษา อังกฤษ การพัฒนาการศึกษาต่อขั้นอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นสากล และการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งบริติชเคานซิลให้น้ําหนักเท่าๆกันในการทํางานเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ซึ่งไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้จากสหราชอาณาจักรมาที่ไทยแต่ได้องค์ความรู้จากประเทศไทยไปเผยแพร่ในสหราชอาณาจักรเช่นกัน

157425945165

ศ.โรนัลด์ คอร์สตานจ์ หัวหน้าศูนย์สารสนเทศการเกษตรแะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ กล่าวว่า Foresight คือวิธีการที่ใช้ดูว่าปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 10-15 ปี คืออะไร และจะมาพร้อมกับวิธีการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพแวดล้อม ดีมานด์ซัพพลาย

วิธีการทํา Foresight หรือการดูอนาคตมีหลักการจํานวนมาก แต่สิ่งที่แครนฟิลด์นํามาใช้เทรนด์ในประเทศไทยแบ่งเป็น 4 ด้านคือ 1. Horizon scanning การดูบริบทโดยรอบ 2. Visioning เป้าหมายที่กําหนดทิศทางแนวทางการวางกลยุทธ์ให้สอดรับกันเทรนด์ในอนาคต 3.Roadmap การวางโรดแมพ 4.ประเมินโรดแมพที่นํามาใช้หาแนวทางต่อยอดปรับปรุง  

“ศาสตร์การวิเคราะห์เทรนด์อนาคตนี้แครนฟิลด์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นเนื่องจากค่อนข้างเป็นวิชาเชิงลึก เปิดสอนในระดับปริญญาโทบางครั้งมีการทําเทรนนิ่ง สําหรับองค์กรที่อยากให้ไปช่วยเทรนด์นอกจากการสอนแล้วจะช่วยดูทิศทาง ขณะเดียวกันการร่วมมือกับเมืองนวัตกรรมอาหารของไทยนั้นจะเป็น “การสร้างคน” เพราะหากสามารถรู้อนาคตได้ก็จะทําให้คนมีสกิลไปต่อยอดใช้ในสาขาอื่นๆได้เช่นกัน

ส่วนใหญ่ระบบการทํางานของ foresight ที่เกี่ยวกับฟู้ดโรดแมพนั้นจะเน้นด้านการใช้เอไอ เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีด้านเกษตรกรรม ซึ่งในอนาคตเตรียมจะนํา Foresight ในอยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์มดิจิทัล จะทําให้เราเห็นเทรนด์อนาคตได้ถูกต้องมากขึ้นรู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้างเพื่อสร้างนวัตกรรมมาแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยการผสานรวมกับนวัตกรรมต่างๆที่มีอยู่แล้ว