ส่องไอพีโอหุ้น 'แบม' บริษัทบริหารหนี้ใหญ่สุดของไทย

ส่องไอพีโอหุ้น 'แบม' บริษัทบริหารหนี้ใหญ่สุดของไทย

ถือเป็นหนึ่งใน "หุ้นไอพีโอ" ที่น่าจับตาสุดตัวหนึ่งในปีนี้ สำหรับ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในหุ้นหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ภายในสิ้นปีนี้

ธุรกิจหลักของ BAM คือ การซื้อหนี้เสียมาบริหาร ทั้งในรูปของการซื้อหนี้เสียจากธนาคารพาณิชย์ และนำมาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกับลูกหนี้ อีกส่วนหนึ่ง คือ ซื้อทรัพย์สินรอการขายจากกรมบังคับคดีหรือสถาบันการเงินอื่น ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในรูปของอสังหาริมทรัพย์ และนำมาจำหน่ายต่อ

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้หุ้น BAM ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก น่าจะเป็นเพราะลักษณะธุรกิจที่ใกล้เคียงกับบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ซึ่งเป็นหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน

นับแต่หุ้น JMT เข้าจดทะเบียนในตลาด SET เมื่อปลายปี 2555 ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาราว 4 เท่าตัว (รวมผลจากการเพิ่มทุนและลดราคาพาร์แล้ว) ทำให้นักลงทุนคาดหวังว่า BAM จะทำผลงานได้ดีไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ จุดเด่นของ BAM คือ การเป็น "ผู้เล่นรายใหญ่" ที่สุดของธุรกิจบริหารหนี้เสีย ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 จากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 จนปัจจุบันบริษัทมีสินเชื่อด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขาย ที่อยู่ภายใต้การบริหารรวมกว่า 2.28 แสนล้านบาท และมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรอยู่ถึง 2.75 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

รวมทั้งผลประกอบการที่ค่อนข้างโดดเด่นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ โดยมีรายได้จากการดำเงินงาน 5.71 พันล้านบาท และทำกำไรได้ 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% และ 85% ตามลำดับ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 86% และ 60% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ BAM จะต้องพิสูจน์ให้เห็นต่อจากนี้คือ เรื่องของ ‘ความสม่ำเสมอ’ แม้ว่าผลประกอบการบางปีจะเติบโตก้าวกระโดด แต่ในบางช่วงก็กลับมาหดตัวเช่นเดียวกัน เห็นได้จากผลงานในช่วงปี 2559 – 2561 ซึ่งบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 7.51 พันล้านบาท 6 พันล้านบาท และ 7.98 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 4.90 พันล้านบาท 4.50 พันล้านบาท และ 5.20 พันล้านบาท ตามลำดับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ หุ้นไอพีโอของ BAM ในครั้งนี้จะเสนอขายโดยที่ไม่มีการรับประกันการจัดจำหน่าย (Best Effort) ทำให้จำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้อาจน้อยกว่าจำนวนที่เสนอขายทั้งหมด และหากไม่สามารถขายหุ้นไอพีโอได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และกองทุนฟื้นฟูฯ ยังคงมีสัดส่วนเกิน 50% จะส่งผลให้บริษัทยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบต่อธุรกิจ

อย่างไรก็ดี พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เชื่อมั่นว่าหุ้นไอพีโอ BAM จะสามารถขายได้หมดตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะกระแสการตอบรับที่ดีจากการเดินสายให้ข้อมูลนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับการขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ บริษัทจะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของหุ้นทั้งหมด ปัจจุบัน BAM มีทุนจดทะเบียน 16,225 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5 บาท