ซอร์ตเซลล์กระหน่ำ 'ทรู' พุ่งสูงสุดช่วง 3 เดือนกดราคาร่วง

 ซอร์ตเซลล์กระหน่ำ 'ทรู'   พุ่งสูงสุดช่วง 3 เดือนกดราคาร่วง

ภาวะตลาดหุ้นไทยยังทรงๆ ไม่มีทีท่าจะไปในทิศทางใด ซึ่งดัชนีย้ำอยู่ในกรอบ 1,600 -1,610 จุด มีปัจจัยลบคอยกดดันทั้งผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น บรรยากาศการเมืองที่ยังส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

การลงทุนในช่วงนี้จึงทำให้นักลงทุนแทบไม่อยากขยับพอร์ตไปไหน เพราะหุ้นขนาดใหญ่ต่างปรับตัวลงหลังตอบรับข่าวไปแล้ว ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลดลงก่อนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณราคาฟื้นตัว บางบริษัทราคายังปรับตัวลดลงต่อ

ด้วยภาวะดังกล่าวการลงทุนในหุ้นจึงทำกำไรได้อยาก แต่ในทางตรงกันข้ามมาดูการลงทุนในหุ้นแต่เป็นทิศทางขาลงกลับพบว่าเป็นโอกาสมากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้ทั้งการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ หรือ Securities Borrowing and Lending (SBL) หลังจากนั้นมีการนำหุ้นที่ยืมมาทำการ Short Selling เปิดสถานะการขายเพื่อเก็งกำไรในกรณีที่คาดหุ้นว่าจะลง  

หรือแม้แต่การลงทุนด้วยวิธีการซื้อขายแบบจับคู่ซื้อขาย Single Stock Futures ที่ราคา และจำนวนสัญญาที่ตกลงกันไว้ เพื่อช่วยเรื่องสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอ หรือ Block Trade ต่างมีวอลลุ่มลงทุนมากขึ้นแทน

เฉพาะการลงทุนด้วยการ Short Selling พบว่า หุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE มีการทำธุรกิจสูงที่สุดในรอบเกือบ 3 เดือน จากเดือน ก.ย. มียอดจำนวนหุ้น 329 ล้านหุ้น มูลค่า 1,848 ล้านบาท ในเดือนต.ค มียอดจำนวนหุ้น 138 ล้านหุ้น มูลค่า 711ล้านบาท

ช่วงครึ่งเดือนแรก พ.ย. หุ้นทรู มียอดจำนวนหุ้น 136 ล้านหุ้น มูลค่า 653 ล้านบาท เมื่อรวมช่วงเวลาดังกล่าวแล้วพบว่ามียอดจำนวนหุ้น 604 ล้านหุ้น มูลค่า 3,214 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการขายช็อตเซลล์เทียบกับปริมาณการซื้อขายปกติกันสัดส่วนในระดับ 7-8 % ต่อเนื่อง

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่ามีนักลงทุนมองว่าราคาหุ้น ทรู มีโอกาสปรับตัวลดลงซึ่งสอดคล้องกับช่วงที่แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าทรูน่าจะมีกำไรเติบโตดีตามภาวะอุตสาหกรรมหลังโอปอเรเตอร์รายอื่นโชว์ตัวกำไรเติบโตดี

บวกกับที่ผ่านทรูมีการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF มูลค่า 15,600 ล้านบาท และน่าจะมีการบันทึกในไตรมาส 3 จึงมีการมองว่าจะมีผลต่อกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของทรูที่ออกมาไตรมาส 3 ปี 2562 กำไร 2857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,800 % แต่ในรอบ 9 เดือน กำไร 5,426 ล้านบาท ลดลง 40.87 % และหากตัดรายการ DIF ออกไปไตรมาสนี้กลุ่ม TRUE จะมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ราว 550 ล้านบาท ประเด็นสำคัญอยู่ที่ภาวะการแข่งขันของกลุ่มสื่อสารที่ยังมีอยู่ 

จากมุมมองของผู้บริหารทรูยอมรับผลกระทบดังกล่าวจากการเป้าการเติบโตปีนี้ลงเป็น 3 - 5% เพื่อสะท้อนการดำเนินงานในช่วง 9เดือน ที่อ่อนแอ ซึ่งราคาหุ้นจึงร่วงหลุด 5 บาท และลงมาปิดที่ 4.16 บาท  ในระยะเวลา3วันทำการราคาลดลง17 % 

รวมไปถึงทิศทางการเข้าร่วมประมูล 5 G คาดว่าจะเริ่มขึ้นในครึ่งปีแรก 2563 ซึ่งบริษัท คาดว่ากระแสเงินสดจะสูงสุดในปีหน้า ก่อนที่จะลดลง จากการลงทุน 5G จะมาทดแทน 4G และยังมองว่าจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาของ China Mobile เนื่องจากการซื้ออุปกรณ์ที่มีส่วนลด และ แผนที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการขายสินทรัพย์ให้กับ DIF และยืนยันว่าจะไม่ใช้วิธีการเพิ่มทุน

จากประเด็นดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โนมูระ พัฒนสิน ปรับราคาเป้าหมายปี 2563ใหม่ลงเหลือ 5.0 บาท จากเดิม 6.1 บาท สาเหตุหลักเกิดจากมุมมองการเติบโตของรายได้ให้บริการมือถือที่แย่ลงกว่าที่คาดเดิม

โดยปรับลดการเติบโตของรายได้ให้บริการปี 2562-2563 เหลือ เติบโต 1% และ 4% จากเดิมที่โตราว 2% และ 4% ตามลำดับ สอดคล้องกับเป้าหมายรายได้บริษัทใหม่ที่มีการปรับลงเช่นกันเหลือโต 3 % และ 5% จากเดิม 5-9% ท่ามกลางทิศทางต้นทุนดำเนินงานที่ยังทรงตัวสูง กดดันทิศทางผลการดำเนินงานปกติปี 2562-2563แย่ลง คาด EBITDA ปีนี้ หดตัวเหลือ 31,024 ล้านบาท ลดลง 45 % จากปีก่อน จะฟื้นตัวอีกครั้งเป็น 33,370 ล้านบาทในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 8 % จากปีก่อน