'พลังเกษตรกรไทย' นัดแต่งดำ บุกทำเนียบ ค้านแบน 3 สาร 28 พ.ย.

'พลังเกษตรกรไทย' นัดแต่งดำ บุกทำเนียบ ค้านแบน 3 สาร 28 พ.ย.

"กลุ่มพลังเกษตรกรไทย" เคลื่อนไหวรอบใหม่นัดแต่งดำ แสดงจุดยืน “คัดค้านแบน 3 สาร” ที่ทำเนียบรัฐบาล 28 พ.ย.นี้

หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ลงมติให้ยกเลิกการจำหน่ายและการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในประเทศ มีผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 ได้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พ.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “รวมพลังเกษตรกรไทย” ได้ออกโปสเตอร์เชิญชวนสมาชิก ร่วมกันแต่งชุดดำ เพื่อแสดงจุดยืน คัดค้าการแบน 3 สาร ในวันพฤหัสที่ 28 พ.ย.2562 เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล

ก่อนหน้านี้สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย แถลงข่าว “รวมพลังเกษตรกรไทย คัดค้านการแบน 3 สารเคมี” ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 22 ต.ค. โดยคาดว่าทางตัวแทนเกษตรกรพืชเศรษฐกิจกว่า 1,000 ราย จะไปรวมตัวกัน เพื่อรอฟังคำตัดสินที่กระทรวงอุตสาหกรรม และไปให้กำลังใจคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขอให้มีการลงมติและตัดสินอย่างเที่ยงตรง ยุติธรรม บนพื้นฐานข้อมูลที่เท็จจริงและถูกต้องมากที่สุด

พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการพิจารณายกเลิกสารดังกล่าสออกไป โดยหานวัตกรรมและแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ก่อน เพราะการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิดจะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ปริมาณและคุณภาพผลผลิต

 

ขณะที่ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช : ThaiPan สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร ซึ่งจัดงานสัมมนา “ทางเลือกเกษตรกรรมไทยหลังแบน 3 สาร” เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2562

น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร และเกษตรกร ขอเรียกร้องจากรัฐบาล กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากที่ได้มีการแบนการใช้ 3 สารเคมี ดังนี้ 1. มาตรการทางการเงิน คืออยากให้มีการออกมาตรการเยียวยา ชดเชยเกษตรกรที่จะได้รับความเสียหาย หรือต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยควรจะมีการจัดตั้งกองทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนเยียวยา และกองทุนสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

2. มาตรการทางภาษี การที่จะหาสิ่งที่จะมาทดแทนการไม่ใช่สารเคมีนั้น จริงๆ มีหลายวิธี แต่บางวิธีไม่สามารถทำได้ เพราะติดปัญหามาตรการทางภาษี เช่น การจะนำเครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยสนับสนุนในการทำเกษตรโดยไม่ต้องใช้เคมี ควรจะมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถพัฒนาเครื่องจักรทางการเกษตร และควรปรับเปลี่ยนมาตรการภาษีที่จะนำเข้าเครื่องจักรกลจากต่างประเทศ ให้เทียบเท่ากับการไม่เก็บภาษีสารเคมีที่นำเข้า เพราะตอนนี้ มาตรการภาษีที่จะนำเข้าเครื่องจักรกลทางการเกษตร ต้องเสียประมาณ 5-20%ของอัตราภาษี ซึ่งถ้ามีการปรับเรื่องนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก และทางรอดของเกษตรกรไทย

3.มาตรการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร ควรจะมีการออกนโยบาย และกฎหมายโดยเฉพาะ ไม่ควรไปรวมกับกฎหมายวัตถุอันตราย จำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เกิดขึ้น และควรมี ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ... ซึ่งตอนนี้เท่าที่ทราบได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ควรจะผลักดันเรื่องนี้ และให้มีการประกาศใช้ เพื่อเป็นมาตรการทางนโยบาย และกฎหมายเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรไทย เพื่อเป็นประเทศเกษตรกรรมยั่งยืน

157424815619