สรุป 12 ข้อวินิจฉัย ศาลรธน. ปมถือหุ้นสื่อ

สรุป 12 ข้อวินิจฉัย ศาลรธน. ปมถือหุ้นสื่อ

สรุป 12 ประเด็นวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ปมถือหุ้นสื่อของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"

กรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาว่าสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เนื่องจากถือหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือไม่นั้น 

วันนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยว่า การกระทำของนายธนาธร เข้าข่ายมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 42 (3) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ถือได้ว่า เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นในธุรกิจสื่อ 

157424855341

โดยสรุปประเด็นวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ดังนี้

1. คำร้องของ กกต.ชอบด้วยกฎหมาย

2. การเลิกกิจการเกี่่ยวกับหนังสือพิมพ์ ต้องจดแจ้งภายใน 30 วัน (ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์)

3. วันที่ 6 ก.พ.62 (วันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รวมธนาธร) บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยังคงดำเนินกิจการอยู่

4. อ้างโอนหุ้นให้มารดา วันที่ 8 ม.ค. 62 แต่ไม่มีการส่ง บอจ.5 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็ว แตกต่างจากครั้งก่อนๆ จึงมีความผิดปกติ

5. อ้างไม่ขึ้น กรณีไม่มีนักบัญชีดำเนินการให้ เพราะสามารถใช้วิธีอิเล็กทรอนิกส์ได้ (การเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นครั้งก่อนๆ ก็ใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์)

6. ใช้เวลาในการนำเช็คเข้าบัญชีนานเกินไป ศาลตรวจสอบย้อนหลังไป 3 ปี เฉพาะเช็คมูลค่าเกิน 2 ล้านบาท พบว่าใช้เวลาเพียง 42-45 วัน นานสุด 98 วัน เป็นเช็คมูลค่า 2 หมื่นบาท แต่ครั้งนี้นานถึง 128 วัน

157424856763

7. คำอ้างภรรยา "รวิพรรณ" ที่ไม่รีบนำเช็คไปขึ้นเงิน ขัดแย้งกับหนังสือของผู้ถูกร้องเอง (อ้างว่าต้องส่งเช็คให้ทนายเตรียมสู้คดี แต่ธนาธรเคยชี้แจงว่าไม่ได้รับสำเนาคำร้องจาก กกต.) เพราะการขึ้นเช็คมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำแทนได้

8. การโอนหุ้นของนางสมพร ไปให้หลาน ไม่มีค่าตอบแทน ย้อนแย้งกับการโอนหุ้นให้ลูก (ธนาธร) กลับมีค่าตอบแทน ซึ่งไม่มีหลักฐานว่าโอนจริงหรือไม่

9. ข้ออ้างการโอนหุ้นให้หลานดูแลกิจการ แต่การเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้มีอำนาจจัดการใดๆ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ฉะนั้นเอกสารโอนหุ้นให้หลานจึงอาจทำย้อนหลัง

10. การอ้างเดินทางกลับจาก จ.บุรีรัมย์ วันที่ 8 ม.ค. มากรุงเทพฯ เป็นการยืนยันแค่ว่าอยู่กทม.จริง แต่ไม่ได้แปลว่ามีการโอนหุ้นกันจริง

11. ตามมาตรา 1129 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การโอนหุ้นให้กันโดยไม่จดแจ้งในทะเบียนผู้ถือหุ้น นำมาอ้างกับคนภายนอกไม่ได้

12. ศาลวินิจฉัยธนาธร พ้นสมาชิกภาพ นับตั้งแต่วันที่สั่งหยุดการปฏิบัติหน้าที่

157424858095