กระแสฮิต “เค-ป็อป” อาเซียนหนุนรายได้ “ทีวี-ออนไลน์” ทะยาน

กระแสฮิต “เค-ป็อป” อาเซียนหนุนรายได้ “ทีวี-ออนไลน์” ทะยาน

กระแสฮิต“เค-ป็อป”อาเซียนหนุนรายได้“ทีวี-ออนไลน์”ทะยาน ขณะที่ความนิยมเจ-ป็อป ลดลงส่งผลให้การโฆษณาตามสื่อต่างๆที่ใช้พรีเซนเตอร์ นักร้องญี่ปุ่นแทบไม่ปรากฏให้เห็น

กระแสความนิยม “เจ-ป็อป” แนวดนตรีของประเทศญี่ปุ่น ที่มีลักษณะดนตรีผสมผสานจากทางตะวันตก ซึ่งรวมถึงดนตรีในลักษณะ ป็อป ร็อก แดนซ์ ฮิปฮอป และ โซลเจป็อป เป็นหนึ่งใน 4 แนวดนตรีที่มีการจำแนกในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้แก่ เจป็อป, เอ็งกะ (ลักษณะคล้ายบัลลาด), ดนตรีคลาสสิก และดนตรีต่างประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน คลายความนิยมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยถูกแทนที่ด้วยแนวเพลงและการแสดงดนตรี“เค-ป็อป” คำถามคือ ยังมีโอกาสหรือไม่ที่เจ-ป็อปจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่

ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ เริ่มหันมานิยม“เค-ป็อป” หรือเพลงจากเกาหลีใต้ ที่มีศิลปินทั้งกลุ่มและเดี่ยวมากมายอย่างเช่น ชินฮวา, โบอา, เรน, เซเว่น, ทงบังชินกี, โซนยอชิแด, มิสเอ, คารา, วันเดอร์เกิลส์, ซูเปอร์จูเนียร์, ชายนี่, ทูพีเอ็ม, เอฟ ที-อาร่า, เอพิ้งค์ , บีสท์, (เอ็ก-โซ) บีเอพี และบิ๊กแบง และความนิยมในดนตรีเกาหลีใต้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการแสดงบนเวทีเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการแสดงดนตรีและร้องเพลงทางออนไลน์ด้วยเช่นกัน

เมื่อครั้งที่ “อาราชิ” กลุ่มศิลปินบอยแบนด์จากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้สังกัดของบริษัทจอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ เดินทางมาทัวร์คอนเสิร์ตในกรุงจาการ์ตา สิงคโปร์ กรุงเทพฯและกรุงไทเป และเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในย่านธุรกิจของกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีแฟนเพลงไปให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น แต่การมาทัวร์คอนเสิร์ตของอาราชิทั้งในกรุงจาการ์ตา และอีกหลายเมืองของอาเซียน ไม่อาจหยุดยั้งกระแสความนิยมเจ-ป็อปในภูมิภาคที่ร่วงลงไปได้ โดยผู้บริโภคยุคใหม่ของอาเซียนหันไปหาความบันเทิงจากเกาหลีใต้แทนทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เรียกว่าเค-ป็อป ครอบครองพื้นที่ในหัวใจและเงินในกระเป๋าของชาวเอเชีย ตั้งแต่เจนเนอเรชันซีจนถึงเจเนอเรชันอื่นๆไปจนหมด

กระแสความนิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้บรรดานักร้องดังของญี่ปุ่นแทบไม่ปรากฏตามหน้าสื่อในอาเซียน มีแต่ไอดอลของเค-ป็อปเท่านั้นที่ปรากฏตามหน้าสื่อเต็มไปหมดทั้งสื่อออนไลน์ โฆษณาทางทีวีและตามบิลบอร์ดในย่านธุรกิจชั้นนำของชาติสมาชิกอาเซียน

“โทโกพีเดีย” ตลาดค้าออนไลน์ใหญ่สุดของอินโดนีเซีย เพิ่งเปิดตัวโฆษณาในรูปแบบซีรีส์ที่ใช้สมาชิกวงบีทีเอสเป็นพรีเซนเตอร์ บอยแบนด์ 7 คน จากเกาหลีใต้เมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่นิตยสารไทม์ ขึ้นปกวงบอยแบนด์บีทีเอส เคป๊อป ในฐานะ ผู้นำคนรุ่นใหม่ หลังสร้างชื่อเป็นวงแรกที่ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีสหประชาชาติ และติดอันดับหนึ่งเพลงยอดนิยมในบิลบอร์ดของสหรัฐเมื่อปี 2560 เอาชนะจัสติน บีเบอร์ และ เซเลนา โกเมซ นักร้องดัง ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า บีทีเอสได้รับความชื่นชมไม่เพียงจากเกาหลี เอเชีย แต่ยังเดินหน้าประสบความสำเร็จติดชาร์ตเพลงฮิตต่อเนื่องในประเทศตะวันตกด้วย

บีทีเอส มาจากภาษาเกาหลีว่า บังทัน โซ-นยอนดัน หมายความว่า เด็กชายกันกระสุน และโกอินเตอร์ในชื่อบียอนด์ เดอะ ซีน( Beyond The Scene)สมาชิกวงบีทีเอสทั้ง 7 คนได้แก่ จีมิน อายุ 22 ปี จิน อายุ 25 ปี ชูกา อายุ 25 ปี เจ โฮป อายุ 24 ปี อาร์เอ็ม หรือ แร็ปมอนสเตอร์ อายุ 24 ปี วี อายุ 22 ปี และ จองกุก อายุ 21 ปี

“พวกเขาเป็นบอยแบนด์ที่เข้ามาปรับโฉมอุตสาหกรรมเพลง เรารู้สึกว่าพันธกิจที่แข็งแกร่งของพวกเขาที่มีต่อนวัตกรรมและอิทธิพลของพวกเขาเอื้อประโยชน์อย่างมากแก่โทโกพีเดีย” โฆษกโทโกพีเดีย กล่าว

ช้อปปี้ ค้าปลีกออนไลน์ของสิงคโปร์ ดึงแบล็กพิงค์มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ในไทย รวมทั้งอีกหลายประเทศในอาเซียนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี2561 โดยแบล็กพิงค์มีสถานะเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับภูมิภาครายแรกของช้อปปี้

การจับมือของช้อปปี้กับแบล็กพิงค์เกิดึข้นหลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงของอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ 11 ช่องในประเทศ ยกเลิกการออกอากาศโฆษณาช้อปปี้ ที่มี 4 นักร้องสาวจากวงแบล็กพิงค์ เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากเกาหลี ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเผยแพร่ภาพลามกอนาจาร

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลัง ชาวอินโดนีเซียจำนวนกว่า 100,000 ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการสั่งถอดโฆษณาดังกล่าวลง ซึ่งการร่วมลงชื่อดังกล่าวก็สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนๆแบล็กพิงค์ด้วยเหมือนกัน ที่ร่วมกันรณรงค์เรียกร้องให้ไล่ผู้หญิงผู้ที่เริ่มต้นให้มีการล่ารายชื่อดังกล่าวออกจากประเทศ

ด้านหน่วยงานกำกับดูแลการเผยแพร่สื่อโทรทัศน์ของอินโดนีเซีย ระบุว่า โฆษณาดังกล่าวขัดกับหลักศีลธรรมอันดีในประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก พร้อมระบุว่า บริษัทต้องระมัดระวังไม่ผลิตโฆษณาที่เชื่อมโยงสินค้ากับสิ่งที่ชาวอินโดนีเซียมองในแง่ลบ

สำนักงานสร้างสรรค์เนื้อหาของเกาหลีใต้ ระบุว่า ตลาดอาเซียน เป็นตลาดใหญ่สุดอันดับ3ของธุรกิจเพลงเค-ป็อป รองจากญี่ปุ่น และจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเกาหลีใต้ส่งออกเนื้อหาบันเทิงไปยังภูมิภาคอาเซียนในปี 2560 คิดเป็นมูลค่า 64 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 60%

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ธุรกิจดนตรีของเกาหลีใต้เท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกัน เกาหลีใต้ ส่งออกเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ไปยังภูมิภาคอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 63% สวนทางกับญี่ปุ่นที่ส่งออกเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ไปยังภูมิภาคนี้คิดเป็นมูลค่าเพียงเล็กน้อยและแนวโน้มก็บ่งชี้ว่าญี่ปุ่น ยังไม่สามารถกลับมาเป็นเนื้อหาที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคอาเซียนเหมือนเดิม