ไทยยูเนียนนำทัพบริษัทอาหารพัฒนาโปรตีนฟิวชัน

ไทยยูเนียนนำทัพบริษัทอาหารพัฒนาโปรตีนฟิวชัน

ไทยยูเนียนนำทัพบริษัทอาหารพัฒนาโปรตีนฟิวชัน เพื่อความยั่งยืนทางด้านอาหารและสุขภาพผู้บริโภค

การใช้นวัตกรรมเข้ามาเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และพัฒนาโปรตีนในอนาคต เพื่อความยั่งยืนทางอาหารและสุขภาพผู้บริโภค เป็นหัวข้อสำคัญอันดับต้นๆ ที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมนานาชาติ Food Innopolis International Symposium 2019

เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ สตาร์ทอัพ และนักวิชาการในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารได้แสดงความคิดเห็นต่อแนวโน้มตลาดผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นโปรตีนทางเลือก ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ด้านสุขภาพและสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย มากกว่าการเลือกบริโภคอาหารเพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ปัจจุบัน โปรตีนจากเนื้อสัตว์ใหญ่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษและยาปฏิชีวนะสูง จึงมีการคิดค้นโปรตีนฟิวชัน หรือโปรตีนทางเลือก ได้แก่ โปรตีนจากพืช โปรตีนจากแมลง หรือโปรตีนจากถั่วขึ้นมาทดแทนโปรตีนจากสัตว์ใหญ่ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ

“ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ” ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป กล่าวว่าถึง นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยนให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ และยังมีบทบาทสำคัญกำหนดอนาคตทางธุรกิจ เพราะนวัตกรรมช่วยสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขันทางการตลาด รวมทั้งตอบโจทย์ผู้บริโภคในแต่ละประเทศให้ตรงความต้องการที่สุด

จากการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคอาหารทั่วโลกพบว่า ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ 1.ประเด็นอาหารขยะ มีการให้ความสำคัญมากที่สุด 62% ซึ่งผู้บริโภคสหรัฐ คาดหวังว่า แบรนด์สินค้าใหญ่ๆ จะช่วยยกระดับคุณภาพอาหาร 2.อาหารประโยชน์ด้านสุขภาพ 54% โดยผู้บริโภคชาวแคนาดา ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเห็นด้วยว่า ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และมีผลต่อการเลือกซื้่อสินค้า

และ3. กระบวนการผลิตอาหารที่มุ่งลดการใช้พลาสติก 42% ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าอาหาร พิจารณาจากจริยธรรมของบริษัทที่มุ่งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากแต่ละผลิตภัณฑ์ และเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ความต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน โดยพบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐและยุโรปมีความต้องการโปรตีนประเภทฟิวชันมากขึ้น เพราะประเด็นด้านความโปร่งใสในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะผู้บริโภคชาวอเมริกัน 46% เห็นด้วยว่า โปรตีนจากพืชส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนฟิวชันสามารถเติบโตและขยายตัวในตลาดของภูมิภาคเหล่านี้ แต่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับกลุ่มผู้บริโภคในแถบเอเชีย โดยเฉพาะคนในเมืองที่ใช้ชีวิตแบบรีบเร่ง จึงต้องการอาหารที่กินง่ายและสะดวกรวดเร็ว

สำหรับบริษัทบริษัทไทยยูเนี่ยน ได้ร่วมทำงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทย 8 แห่ง และมหาวิทยาลัยต่างประเทศอีก 6 แห่ง ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และอิตาลี โดยได้ทุ่มงบประมาณเพื่อลงทุนวิจัยและพัฒนาเกินกว่าพันล้านบาท และใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการซื้ออุปกรณ์ใหม่ด้านวิจัย เพื่อใช้นวัตกรรมมาพัฒนานวัตกรรมทางอาหารให้รับกับความต้องการตลาดผู้บริโภคในปัจจุบัน

ด้าน “ลูนี ริก โอลเซน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Danish Food Cluster ประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า เดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีจุดแข็งในกลุ่มอาหารออร์แกนิกและผลิตภัณฑ์อาหารพรีเมียม ซึ่งนอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่สามารถผลิตสินค้าด้านเกษตรอาหารได้มากถึงสามเท่าของปริมาณที่ต้องการบริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ Danish Food Cluster เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ อะโกรฟู้ดพาร์ค ซึ่งมีบทบาทสำคัญด้านการพัฒนาซึ่งทำงานเพื่อนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ควบคู่การสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานระดับโลก และเชื่อมโยงนักลงทุนต่างชาติและบริษัทต่างๆ

อะโกรฟู้ดพาร์ค เป็นหนึ่งในศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารที่สำคัญของโลก มีพื้นที่ในอาคารวิจัยกว่า 45,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับบริษัทในการทำวิจัยพัฒนาด้านนวัตกรรมอาหาร มีพื้นที่แปลงทดลอง 31 ไร่ บนพื้นที่รวมทั้งสิ้น 625 ไร่ ปัจจุบันมีบริษัทในพื้นที่ 75 บริษัท โดยในจำนวนนี้เป็นสตาร์ทอัพประมาณครึ่งหนึ่ง

โอลเซน กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนานวัตกรรมอาหารก็เพื่อให้เป็นไปตามแนวโน้มความต้องการของตลาด ซึ่งคาดการณ์ว่า ในอนาคตความต้องการโปรตีนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 70% ในปี 2593 ขณะที่ความต้องการสินค้าโปรตีนฟิวชันจะคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของตลาด เพราะผู้บริโภคคำนึงถึงปัจจัยด้านสุขภาพมากที่สุด