จับตาธุรกิจข้ามสายพันธุ์ 'ปตท.' ผันตัวลุยอุตสาหกรรมยา วางฐานอุตฯใหม่ 'ไบโอเบส'

จับตาธุรกิจข้ามสายพันธุ์ 'ปตท.' ผันตัวลุยอุตสาหกรรมยา วางฐานอุตฯใหม่ 'ไบโอเบส'

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ในโลกธุรกิจที่การหยุดนิ่งเท่ากับถอยหลัง การปรับตัวในยุคทรานส์ฟอร์เมชั่นปัจจุบันนี้แค่ปรับตัวไม่พอแล้ว ต้องเปลี่ยนตัว จากการทำธุรกิจหนึ่งเพื่อไปสู่อีกธุรกิจ หรือเรียกได้ว่า "ข้ามสายพันธุ์"

บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT  ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) เมื่อวันที่ 23 ม.ค2561 โดยองค์การเภสัชฯ มีเป้าหมายมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการรักษา ซึ่งการเปลี่ยนแนวธุรกิจเช่นนี้ เพื่อนำองค์กรปตท.เข้าสู่นำเข้าธุรกิจไบโอเบส ที่เป็นหนึ่งในสาขาแห่งอุตสาหกรรมใหม่ หรือ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และอีกด้านก็จะช่วยลดการนำเข้ายามะเร็งปีละกว่า 15,000 ล้านบาทควบคู่ไปด้วย 

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือPTT เปิดเผยว่า ปตท.มีแนวคิดที่จะศึกษาทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายยาในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะทำควบคู่ไปกับการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ให้กับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ในลักษณะต่อยอดความร่วมมือจาก “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API)”

หลังจากการเข้าไปก่อสร้างโรงงานผลิตยาฯ และเมื่อโรงงานฯเกิดขึ้นได้แล้ว ก็ต้องไปดูเรื่องความคุ้มค่าในการผลิต ซึ่งก็มีช่องที่ ปตท.น่าจะเข้าไปช่วยได้ในเรื่องทำการตลาด(มาร์เก็ตติ้ง)ที่จะเน้นตลาดในต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อสร้างดีมานด์ให้กับโรงงานฯ เกิดความคุ้มค่าในต้นทุนการผลิต

ส่วนรูปแบบธุรกิจจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องมาพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง แต่เบื้องต้น ปตท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อน แล้วในอนาคตอาจจะต้องมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาหรือไม่ ก็ค่อยตัดสินใจต่อไป

“จะเป็นธุรกิจไบโอเบส หรือ ต่อยอดสู่ธุรกิจไบโอฟาร์มา ในอนาคต ซึ่งจริงๆแล้วไลฟ์สไตล์มันก็ต้องเป็นกลยุทธ์การลงทุนหนึ่งของ ปตท.ที่จะช่วยให้มีกำไร”

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตยาฯ ยังอยู่ในกระบวนการศึกษารายละเอียดร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย และมีความคืบหน้าไปมากแล้ว แต่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน เนื่องจากผลการศึกษาของทั้ง 2 ฝ่าย ยังต้องใช้เวลาในกระบวนการพิจารณาด้วย แต่อยู่บนหลักการการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่าย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ทางปตท. คาดการณ์ว่า โรงงานผลิตรักษาโรคมะเร็ง จะมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายจะเริ่มผลิตยาได้เองในประเทศประมาณปี 2568 จากช่วงแรกที่ยังเป็นการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศ

ส่วนพื้นที่ในการจัดตั้งโรงงานนั้น ยังต้องศึกษาความเหมาะสมอีกครั้ง โดยอยู่ระหว่างพิจารณาพื้นที่นิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์(WECOZI)ใน จ.ระยอง ซึ่งเป็นนิคมฯของ ปตท.ที่มีความพร้อมด้านระบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า,น้ำ และถนน เป็นต้น ขณะเดียวกันองค์การเภสัชฯ ยังมีพื้นที่อยู่แล้วที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ราว 1,000 ไร่ แต่ยังขาดความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ขณะที่ยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทมีราคาสูงมากและไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ 

"การที่ไทยสามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งทั้งชนิดเคมีและชีววัตถุในเชิงพาณิชย์ได้ด้วยตัวเอง ทำให้สามารถลดราคายาลงได้มากกว่า 50 % นอกจากนั้นยังทำให้มูลค่าการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศลดลง ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ายากลุ่มนี้สูงถึง 15,000 ล้านบาทต่อปี”