อว.ผนึกศธ. พัฒนาครูในศตวรรษที่ 21

อว.ผนึกศธ. พัฒนาครูในศตวรรษที่ 21

อว.-ศธ.ร่วมพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 รับมือปัญหาคุณภาพ ผลิตไม่ตรง จำนวนเกินตำแหน่ง ตั้ง"คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู" เสนอวิษณุ - สมคิด นั่งประธาน พร้อมยกเลิกมคอ.ปลดล็อคข้อจำกัดมหาวิทยาลัย

วันนี้ (19พ.ย.2562) ที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับนายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เรื่องการพัฒนาครูในศตวรรษที่ 21 ว่าจากการหารือ พบว่า ปัญหาของครู คือ การขาดคุณภาพ ครูที่ผลิตไม่ตรงสาขา และครูมีจำนวนเกินตำแหน่งที่รองรับ ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งตัวของครูและสภาพแวดล้อม รวมถึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับครูจบใหม่ในปี 2565 ทั้งครูในหลักสูตร 4 ปี และ 5 ปี 

อว.ได้เสนอให้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยให้มีการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู (National Joint Committee for Teacher Education and Development)  ที่ต้องมีคนจากฝั่งผลิตครู และฝั่งใช้ครู เพื่อดูแลเรื่องการทำนโยบาย กำหนดทิศทาง วางมาตรฐานครู  ดูแลการวิจัยเชิงระบบ และศูนย์กลางของความเป็นเลิศด้านการศึกษา

นอกจากนั้น ได้เสนอให้มีการตั้งสถาบันวิจัยระบบครุศึกษาและการศึกษา (Teacher Education and Education System Research Institute) เพื่อทำการวิจัยเชิงระบบทั้งด้านการศึกษาและคุรุศาสตร์ เพื่อทำหลักฐานองค์ความรู้เชิงประจักษ์ในการเตรียมกำลังคน

รวมทั้งตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านครุศึกษา (Teacher Education Center of Excellence) เป็นการรวมกลุ่มของสถาบันผลิตครูหลักๆ ในรูปแบบสภาความร่วมมือเน้นการผลิตครูของครู ปริญญาเอกและหลังปริญญาเอก อาจจะกระจายเป็นกลุ่มตามแต่พื้นที่ และต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหารายวิชาให้ทันกับศตวรรษที่ 21

สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้นนั้น รมว.อว. กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ให้ปลัด อว. และ ศธ. ตั้งทีมทำงานเพื่อระบุและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นชอบกับการตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครู

โดยให้ปลัดทั้งสองกระทรวงรับหน้าที่ดำเนินการ โดยอาจให้มีดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หรือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมี รมว.อว.และ รมว.ศธ. ร่วมในคณะกรรมการ เพื่อดูรายละเอียดการผลิตและพัฒนาครูเป็นเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งมีการทำการวิจัยเชิงระบบ และพัฒนาครูของครู ต้องปรับทักษะครู (reskill) ให้มีความสามารถ โดยเฉพาะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ

“ศธ.ขอให้ อว.ช่วยพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูเก่าร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นรูปแบบหลักสูตรระยะสั้นและปรับหลักสูตรของ ศธ.ที่ใช้ในโรงเรียนสอดคล้องกับที่นิสิตนักศึกษาครูเรียนในมหาวิทยาลัย อีกทั้งต้องมีการรวมครูอาชีวะเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาครู เนื่องจากมีครูสายนี้น้อยและเป็นสายที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมประเทศ"ดร.สุวิทย์ กล่าว

นอกจากนั้น ศธ. มีแผนจะของบกลางเพื่อรับนักศึกษาครูจบใหม่เข้ามาเพื่อพัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)/ดิจิทัล/ ภาษาอังกฤษ สำหรับครูเก่ามีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้จริงทั้งหมดใน 3 ปี บางรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ควรจะมีการแบ่งการผลิตครูออกเป็นระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งทาง ศธ. จะระบุรายวิชาแล้วนำมาหารือต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของอว.นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการยกเลิกกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ มคอ. ทั้งที่คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF)เพิ่งจะมีมติรับรองรายงานการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของไทยสู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน 

ดร.สุวิทย์ กล่าวอีกว่าสิ่งที่อว.ทำคือการทบทวนกรอบมคอ. ​และปรับวิธีขอตำแหน่งวิชาการให้เหมาะสม เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย ให้ตอบโจทย์ประเทศในอนาคต พร้อมทั้งแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยที่สร้างองค์ความรู้ระดับโลก 2. มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยี ที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และนวัตกรรม และ3. มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นตอบโจทย์พื้นที่ในการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น

ขณะนี้มีหลายเรื่องที่เป็นหลักสูตรแห่งอนาคต และโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้มหาวิทยาลัยก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งทำอะไรที่หยุมหยิม ทำแล้วไม่ตอบโจทย์ประเทศทำให้เสียเวลาไปเปล่าประโยชน์ จึงต้องมีการปลดล็อกในหลายเรื่อง

"อว.ไม่ต้องการเป็นตัวถ่วงของมหาวิทยาลัย เราจึงต้องปล่อยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ของตัวเองไปก่อนแล้วเราค่อยลงไปตรวจสอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยฟรีทั้งหมด ถ้าปล่อยให้ทำแล้วทำไม่ดีก็ต้องตรวจกันออย่างเข้มข้น"ดร.สุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของมคอ.คือคุณภาพและมาตรฐาน เมื่อมหาวิทยาลัยมีอิสระแล้วก็ต้องแลกกับการมีมาตรฐาน