‘แบงก์’รายได้ค่าฟีขาย‘ประกัน-กองทุน’พุ่ง

‘แบงก์’รายได้ค่าฟีขาย‘ประกัน-กองทุน’พุ่ง

"ธปท." เผยรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์ไตรมาส 3 เริ่มขยับเป็นบวก ผลจากรายได้ขายประกัน-หลักทรัพย์เพิ่มขึ้น  หลังก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากเกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักท์ และยกเลิกค่าฟีโอนเงินบนดิจิทัล  "เอสซีบี"หวังรายได้ค่าฟีประกันปีหน้าโต  จากดีลเอฟดับบลิวดี 

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า รายได้ค่าธรรมเนียมของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรามาส 3  ปี2562 เริ่มปรับตัวดีขึ้น หากเทียบกับปีก่อนหน้า ที่รายได้ค่าธรรมเนียมหดตัวสูง จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินบนช่องทางดิจิทัล และการประกาศใช้เกณฑ์มาร์เก็ตคอนดักต์ โดยเริ่มเห็นการกลับมาเพิ่มขึ้นในทุกหมวด สะท้อนว่าสถาบันการเงินเริ่มปรับตัวได้ และมีรายได้อื่นๆเข้ามาเพิ่มขึ้น

หากดูรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์  พบว่าหลักๆ  มาจากรายได้ขายประกัน ขายหลักทรัพย์ และรายได้จากเงินโอน โดยรายได้จากการขายประกันไตรมาส3ปีนี้ ปรับตัวดีขึ้นและพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 10.1% หากเทียบกับไตรมาส 2ที่ติดลบ 4.9%  ส่วนค่าธรรมเนียมจากการขายหลักทรัพย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน กลับมาเป็นบวกถึง 18.0% หากเทียบกับค่าธรรมเนียมในไตรมาส 2ที่ขยายตัวเพียง 0.7% และไตรมาสแรกติดลบ 33.6%

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมจากเงินโอน พบว่า ยังปรับตัวลดลง 7.2% ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่ติดลบเพียง 2.2% แต่น้อยกว่าไตรมาสแรกที่ติดลบ 21.4% อย่างไรก็ตาม ในส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมแบงก์ มีสัดส่วนเพียง 15.1%  ที่มีผลต่อกำไรสุทธิของธนาคาร หากเทียบกับรายได้อื่นๆ เช่น รายได้ดอกเบี้ยที่มีผลถึง 56.6%

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคาร ยังถูกกดดันจากการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตสูง  ทั้งอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บริการสาขาที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารคงต้องมีการปรับกลยุทธ์ เพื่อหนุนรายได้ค่าธรรมเนียมให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร เช่น การทำวอลเลต เพื่อทำให้ธนาคารเข้าไปตอบโจทย์ด้านการชำระเงินต่างๆ รวมถึงการทำอีมาร์เก็ตเพลส อาจเป็นช่องทางที่เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้แบงก์เพิ่มขึ้นได้  แต่ระยะแรกอาจไม่เห็นค่าธรรมเนียมที่เกิดจากส่วนนี้ เนื่องจากธนาคารเพิ่งเปิดตัวและยังไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมบนอีมาร์เก็ตเพลส

“มีหลายตัวที่เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมให้แบงก์ได้  เช่น การทำอีมาร์เก็ตเพลส เพียงแต่ตอนนี้ เราเพิ่งเริ่มทำ ยังไม่เห็นค่าธรรมเนียมตรงนี้เข้ามา ในอนาคตค่อยมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับส่วนนี้ได้บ้างเพื่อทำให้มีรายได้เพิ่ม”

ด้านนางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผูจัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า หากดูรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคาร แม้จะไม่ปรับลดลงแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า ที่มีการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิทัล แต่รายได้จากเงินโอน หรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนดิจิทัล ไม่มีค่าธรรมเนียม ก็ยังเป็นส่วนที่ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมปรับลดลงอยู่

อย่างไรก็ตาม มองว่าปีหน้ารายได้ค่าธรรมเนียมของแบงก์ น่าจะกลับมาเติบโตในระดับที่ดีขึ้น เนื่องจากธนาคารจะมีรายได้ค่าธรรมเนียมใหม่ๆจากธุรกิจประกันมากขึ้น ภายใต้การบริหารงานของอฟดับบลิวดี ที่จะกลับมารุกธุรกิจนี้ได้เต็มที่ หากเทียบกับที่ผ่านมาที่ธนาคารไม่ได้รุกรายได้จากช่องทางนี้มากนัก