กลุ่มหนุนแบนสารพิษเกษตร ออก 3มาตรการเรียกร้องจากรัฐบาล

กลุ่มหนุนแบนสารพิษเกษตร ออก 3มาตรการเรียกร้องจากรัฐบาล

เครือข่ายหนุนแบนสารพิษเกษตร ออก 3 มาตรการเรียกร้องจากรัฐบาล เยียวยา ไม่เก็บภาษีเครื่องจักรกลเช่นเดียวกับภาษีสารเคมี มาตรการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรต้องมีนโยบายและกฎหมายโดยเฉพาะ ยืนหยัดมีทางออกให้เกษตรกร เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล 20 พ.ย.นี้

หลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ลงมติให้ยกเลิกการจำหน่ายและการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในประเทศ โดยมีผลให้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป และขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางเลือกและมาตรการต่างๆ แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะ อีกทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร จะมีการจัดทำข้อเสนอในกรณีดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 พ.ย.2562

วันนี้ (19พ.ย.2562) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช : ThaiPan สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิชีววิถี  ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร  จัดงานสัมมนา "ทางเลือกเกษตรกรรมไทยหลังแบน 3 สาร"  ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร และเกษตรกร ขอเรียกร้องจากรัฐบาล กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเกษตรกร หลังจากที่ได้มีการแบนการใช้ 3 สารเคมี ดังนี้ 

1.มาตรการทางการเงิน คืออยากให้มีการออกมาตรการเยียวยา ชดเชยเกษตรกรที่จะได้รับความเสียหาย หรือต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยควรจะมีการจัดตั้งกองทุนสำหรับการปรับเปลี่ยนเยียวยา และกองทุนสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

2.มาตรการทางภาษี การที่จะหาสิ่งที่จะมาทดแทนการไม่ใช่สารเคมีนั้น จริงๆ มีหลายวิธี แต่บางวิธีไม่สามารถทำได้ เพราะติดปัญหามาตรการทางภาษี เช่น การจะนำเครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยสนับสนุนในการทำเกษตรโดยไม่ต้องใช้เคมี ควรจะมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถพัฒนาเครื่องจักรทางการเกษตร

ควรปรับเปลี่ยนมาตรการภาษีที่จะนำเข้าเครื่องจักรกลจากต่างประเทศ ให้เทียบเท่ากับการไม่เก็บภาษีสารเคมีที่นำเข้า เพราะตอนนี้ มาตรการภาษีที่จะเข้าเครื่องจักรกลทางการเกษตร ต้องเสียประมาณ 5-20%ของอัตราการภาษี ซึ่งถ้ามีการปรับเรื่องนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก และทางรอดของเกษตรกรไทย

3.มาตรการปรับเปลี่ยนระบบควรจะมีการออกนโยบาย และกฎหมายโดยเฉพาะ ไม่ควรไปรวมกับกฎหมายวัตถุอันตราย จำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เกิดขึ้น และควรมีพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนเกษตรกรยั่งยืน ตอนนี้เท่าที่ทราบได้ผ่านมติครม.แล้ว ควรจะมีการประกาศใช้ เพื่อเป็นมาตรการทางนโยบาย และกฎหมายเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรไทย เพื่อเป็นประเทศเกษตรกรรมยั่งยืน

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าหลังจากการยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรที่ต้องใช้สารเคมีเกิดความไม่มั่นใจว่าจะทำอาชีพเกษตรต่อได้อย่างไร ดังนั้น การสัมมนาครั้งนี้  จึงเป็นการเสนอทางเลือก และสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรไทยว่ามีหน่วยงาน มีองค์กร และมีวิธีการที่จะช่วยเกษตรกรมากมาย 

"ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรยั่งยืนประมาณ 33 ล้านไร่ มีเกษตรอินทรีย์กว่า 1 ล้านไร่ และได้รับรองแล้วประมาณ 500,000 ไร่ ซึ่งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ทั่วประเทศประมาณ 100 กว่าที่ พร้อมจะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจเข้าไปเรียนรู้พร้อมเผยแพร่เทคนิคและวิธีการจนสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง"นายวิฑูรย์ กล่าว

ดังนั้น สังคมไทยหลังการแบนสารเคมีจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิ องค์ความรู้ใหม่ๆ ว่าด้วยศัตรูพืชและวัชพืชจะต้องเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะแมลงหรือวัชพืช ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นศัตรูพืช ขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการเกษตรจะถูกนำมาใช้มากขึ้น พร้อมกับการตื่นตัวของชุมชนต่อการจัดการการใช้สารเคมีจะมีความชัดเจนและมีอิสระในการตัดสินใจ ที่สำคัญคนรุ่นใหม่จะหันมาให้ความสนใจกับภาคเกษตรมากขึ้น

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า เครือข่ายเกษตรกรทั้งหมดยืนยันว่ารัฐบาลต้องยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ถึงแม้ขณะนี้จะมีกระแสเรียกร้องจากทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าข้าวสารและถั่วเหลือ หรือประเทศส่งออกให้ประเทศไทยคงค่าสารเคมีต่อไป หรือบางสมาคมทางวิชาการที่อออกบอกให้ทบทวนการยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไปก่อนนั้น  

เพราะข้อมูลงานวิจัย ผลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติหลายที่ หรืองานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เอง ก็มีหลายชิ้นที่ยืนยันว่า สารเคมีเหล่านั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้คนเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น อยากให้รัฐบาลยึดข้อมูลงานวิจัย เชื่อว่าทางเลือกที่ไม่ต้องใช้สารเคมีนั้นมีมากมาย และไม่ได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรต่ำลงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเกษตรกรไทยที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรในรูปแบบอื่นๆ ต่างเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรที่ไม่ต้องใช้สารเคมีได้ทั้งสิ้น สำหรับข้อเรียกร้องต่างๆ นั้น ทางกลุ่มจะรวบรวมและสรุปอีกครั้ง เพื่อจัดทำเป็นหนังสือยื่นต่อรัฐบาล และรมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 20 พ.ย.2562 นี้

นางกัลยา สำอาง เจ้าของสวนบุญทวี จ.สระบุรี กล่าวว่าทำเกษตรอินทรีย์มาหลายสิบปี บนพื้นที่ 40 ไร่ มีทั้งปลูกทุเรียน ลองกอง เงาะ โดยไม่เคยใช้สารเคมี แต่จะมีการกำจัดวัชพืช เช่น การตัดหญ้า บ่มดินใหม่ และอีกหลากหลายวิธีที่ทำให้สามารถกำจัดศัตรูพืช วัชพืชได้ อีกทั้งยังทำให้ผลผลิตไม่เสียหาย แต่กลับได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น  

ดังนั้น ในฐานะเกษตรกร ขอยืนยันว่าควรแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เพราะต่อให้พี่น้องเกษตรกรอาจมองว่าได้รับผลกระทบหากไม่ได้ใช้สารเคมี อยากให้เปลี่ยนความคิด และมองว่าสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับผลกระทบต่อผลผลิต เนื่องจากมีองค์ความรู้ในแต่ละพื้นที่มากมายให้เรียนรู้ และทางสวนบุญทวีก็ยินดีถ้าใครอยากจะมาแลกเปลี่ยน เพื่อทำให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารา กล่าวว่า มีคนพูดแทนเกษตรกรเยอะว่าหากไม่ได้ใช้สารเคมี จะทำให้มูลค่าการส่งออกเกิดความเสียหายนับ 10,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของสวนยางพารานั้น ไม่เป็นความจริง สิ่งที่ทำให้สวนยางพาราเสียหาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการไม่ใช้สารเคมี แต่เป็นเรื่องของการทำสวนยางเชิงเดี่ยว

ขณะนี้เรามีเป้าหมายในการทำสวนยางมั่นคง ดังนั้น มีข้อเสนอที่อยากจะขอการสนับสนุนจากรัฐบาล คือ เมื่อชาวสวนยางมีเป้าหมายในการทำสวนยางยั่งยืน อยากให้รัฐบาลจัดทำยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ และควรมีมาตรการจูงใจให้ชาวสวนยางยั่งยืน  เพิ่มการสนับสนุนอีก 10,000 บาทต่อไร่ในการปลูก เพื่อทำให้สวนยางยั่งยืน และไม่ต้องใช้สารเคมีในการทำสวนยางพารา