ส่อผิดจริยธรรม แพทย์ทะเลาะพยาบาล

ส่อผิดจริยธรรม แพทย์ทะเลาะพยาบาล

ปลัดสธ.ส่งกรรมการสวนกลางสอบข้อเท็จจริงกรณีแพทย์-พยาบาลรพ.อำนาจเจริญทะเลาะวิวาท กางข้อบังคับแพทยสภาส่อเข้าข่ายผิดจริยธรรมแพทย์ ข้อยกย่องให้เกียรติ และเคารพในศักดิ์ศรีของผู้ร่วมงาน

วันนี้(19 พ.ย.)ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสูตินรีแพทย์ ทะเลาะพยาบาล เพื่อแย่งห้องผ่าตัด โรงพยาบาลอำนาจเจริญ ว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งตามหลักของการใช้ห้องผ่าตัดจะจัดลำดับ 1 สำหรับกรณีฉุกเฉิน รองลงมาคือการจัดลำดับตามคิว ซึ่งต้องมีการจองห้องผ่าตัดก่อน หากจองแล้วเกิดมีการแทรกคิว ก็ต้องดูว่ากรณีนั้นมีความฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนกรณีนี้ได้รับรายงานว่าแพทย์ที่แทรกคิวแจ้งขอแทรกคิวผู้ป่วย 1 ราย แต่กลับแทรกเข้ามา 2 ราย ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของรพ.อำนาจเจริญมีการตั้งกรรมการสอบแล้ว แต่ทางส่วนกลางก็ส่งลงไปสอบด้วย
        กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะมีการรับดูแลฝากครรภ์พิเศษนั้น เรื่องนี้ยังไม่ทราบ เพราะที่ได้ยินก็ได้ยินมาจากที่อื่น แม้แต่พยาบาลที่เป็นคู่กรณีก็ไม่ได้พูด เรื่องนี้ก็ต้องไปดูเหมือนกัน เพราะตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ ทางกระทรวงพยายามที่จะดูแลผู้ป่วยตามระบบ ซึ่งปัจจุบันเราเองก็มีการเปิดคลินิกพิเศษอยู่เช่นเดียวกัน ส่วนถ้าผู้ป่วยจะให้เพราะเสน่หาก็ต้องไม่เกิน 3,000 บาท

         “เรื่องนี้ยังต้องรอการสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ดูว่ามีปัญหาอะไรกันหรือไม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญคือการให้เกียรติผู้ร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพไหนก็ตาม เน้นช่วยกันดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย” นพ.สุขุม กล่าว
   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2535 มาตรา 31 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ต้องรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภา ทั้งนี้ ตามข้อบังคับของแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 4 การปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ ข้อ 30 ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงยกย่องให้เกียรติ เคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน หมวด 6 การปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานข้อ 33 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พึงยกย่องให้เกียรติ และเคารพในศักดิ์ศรีของผู้ร่วมงาน 
   นอกจากนี้ หมวด 4 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 16 ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่เรียกร้องสินจ้าง รางวัลพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการแพทยสภาจะดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง หากมีบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย หรือบุคคลอื่นกล่าวหาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือคณะกรรมการกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งหากการสอบสวนแล้วเสร็จ คณะกรรมการแพทยสภาจะวินิจฉัยชี้ขาดใน 5 แนวทาง คือ 1. ยกข้อกล่าวหา หรือข้อกล่าวโทษ 2. ว่ากล่าวตักเตือน 3. ภาคทัณฑ์ 4. พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี และ 5. เพิกถอนใบอนุญาต