จี้รบ.ตั้งกองทุนเยียวยาเกษตรกร จากผลกระทบ​แบน3สารพิษ

จี้รบ.ตั้งกองทุนเยียวยาเกษตรกร จากผลกระทบ​แบน3สารพิษ

เครือข่ายปชช.​ 686 องค์กร เรียกร้อง 3​ ข้อเร่งด่วนก่อนแบน​ 3​ สารพิษ​ 1 ธันวาคมนี้​ เร่งออกกองทุนเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ​ แนะลดภาษีเครื่องจักรกลการเกษตร​ ดันพ.ร.บ.เกษตรฯ​ ยั่งยืน

นายวิฑูรย์​ เลี่ยนจำรูญ​ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี​ หรือ​ ไบโอไท​ กล่าวว่า​ อีกไม่กี่สัปดาห์จะเข้าสู่การแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด​ แต่ยังคงมีความกังวลในช่วงการเปลี่ยนผ่าน​ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ ควรจะออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือ​ ทั้งนี้ภาคประชาชนมีข้อเสนอ 3 ข้อ​คือ 1 ต้องมีมาตรการชดเชยให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแบนสารเคมี​ ที่อาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรทั้ง 6 กลุ่ม​ ได้แก่​ ​อ้อย ยาง​ ปาล์มน้ำมัน​ ข้าวโพด​ มันสำปะหลังและไม้ผล​ โดยเฉพาะกลุ่มมันสำปะหลัง​ มีงานวิจัยชี้ว่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 100 บาทต่อไร่​ ซึ่งส่วนนี้ควรมีกองทุนชดเชยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน​

2 รัฐต้องลดภาษีเครื่องจักรกลทางการเกษตร​ เช่นจอบหมุน​ ซึ่งที่ผ่านมาต้องเสียภาษี 5​ -​20%ในขณะที่สารเคมีทางการเกษตรไม่ต้องเสียภาษีและ

3 การเปลี่ยนระบบการเกษตรที่ต้องอาศัยทั้งด้านนโยบายและกฎหมาย​ โดยเฉพาะกับพระราชบัญญัติที่จะต้องมาดูแลเรื่องสารเคมีโดยเฉพาะ​ ไม่พึ่งพาเพียงพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ซึ่งกำลังร่างอยู่ในขณะนี้​ ส่วนพระราชบัญญัติส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน​ ซึ่งผ่านมติครม.ไปแล้ว ก็ควรที่จะผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายประกาศใช้เร็วที่สุด

อ่านข่าว-ประกาศ! จัดเก็บสารพิษทางการเกษตร ใครมีไว้ต้องส่งให้จนท.ใน15วัน

โดยทั้ง 3 ข้อเสนอ​ นี้เครือข่ายจะไปยื่นเสนอต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ ในวันพรุ่งนี้​ (20​ พ.ย.​ 62)​โดยยืนยันว่าควรจะต้องมีการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตรต่อไปตามกรอบระยะเวลา​ ขณะที่ภาคประชาชนได้รวมตัวกันเสนอทางเลือกในการทำเกษตรแบบไร้สารเคมีโดยมีเคสตัวอย่างกว่า 100 กลุ่มที่สามารถเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรได้​ แต่ก็อยากให้กระทรวงเกษตรเร่งประกาศแนวทางการกำจัดศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีออกมา

ส่วนกรณีสารชีวภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช​ ที่เพิ่งพบ จะต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ก็ยอมรับว่ามีกลุ่มเกษตรกรที่พยายามพัฒนาสารชีวภัณฑ์ขึ้นมาจริงๆแบบไร้สารเคมี​ แต่ต้องใช้เวลาในการลงทะเบียนนานถึง 5 ปี​ กลุ่มที่ทำสารชีวภัณฑ์อย่างถูกต้อง​ และไม่เจือปนสารเคมี​ รัฐควรจะเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน​ และลดระยะเวลาในการลงทะเบียนให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้​ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 150 ล้านไร่​ จำนวนนี้ 3.3 ล้านไร่​ เป็นเกษตรแบบยั่งยืนใน 3.3 ล้านไร่​ มีเกษตรอินทรีย์ประมาณ 1 ล้านไร่​ ซึ่งจะต้องผลักดันให้พื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีเพิ่มมากขึ้น