'สาธารณสุข' ขอตำรวจช่วยสกัดตีกันใน 'โรงพยาบาล'

'สาธารณสุข' ขอตำรวจช่วยสกัดตีกันใน 'โรงพยาบาล'

สาธารณสุขขอความร่วมมือกับตำรวจช่วยสกัดเหตุตีกันในสถานพยาบาล หลังพบสถิติ 7 ปีที่ มีความรุนแรงในสูงขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และผู้บริหารโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เกี่ยวกับการป้องกัน ระงับเหตุก่อความความรุนแรงในรพ. โดยเฉพาะรพ.ที่เกิดเหตุคนยกพวกตีกัน ซึ่งในปี 2562 มีถึง 6 เหตุการณ์ คือ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รพ.ห้วยแถลง และ รพ.ประทาย จ.นครราชสีมา รพ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และ ล่าสุด รพ.อ่างทอง จ.อ่างทอง

ผู้บริหารโรงพยาบาลอ่างทอง รายงานว่าได้แจ้งความเอาผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการไปแล้ว ซึ่งศาลไม่ให้ประกันตัว และกำลังเตรียมเอาผิดกรณีทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย เนื่องจากเหตุการณ์ยกพวกตีกันใน รพ.อ่างทอง เป็นเหตุให้เครื่องมอนิเตอร์อาการผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินเสียหาย และอื่นๆ

ส่วนที่ รพ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ อัยการสั่งฟ้องแล้ว ขณะที่ รพ.ห้วยแถลง และรพ.ประทาย จ.นครราชสีมา อัยการกำลังจะสั่งฟ้อง ส่วนที่ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะนี้ศาลตัดสินจำคุกผู้ก่อเหตุสูงสุด 10 เดือน

อ่านข่าว-ยกพวกตีกันในรพ.ทำพระพุทธรูปเสียหายจำคุก 10 เดือน 

นายสาธิต กล่าวว่า ในปี 2562 มีการก่อความรุนแรงใน รพ.หลายครั้ง เฉพาะเหตุยกพวกตีกันถึง 6 ครั้ง ส่วนการดำเนินคดี เข้าใจดีว่าอยู่ที่ดุลพินิจของศาล ซึ่งทางกฎหมายให้รอลงอาญากรณีผู้ที่ไม่เคยทำผิดมาก่อน แต่อยากขอความกรุณา เฉพาะการก่อความรุนแรงใน รพ.ให้มีการลงโทษสูงสุด ไม่ใช่แค่การรอลงอาญา เพื่อให้หลาบจำ ไม่มากระทำความรุนแรงในรพ.อีก

ตนได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือ ให้มีข้อสั่งการไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ ในการจัดส่งตำรวจในจำนวนที่เพียงพอต่อการระงับเหตุการณ์ ที่อาจจะเกิดความรุนแรงในรพ.เมื่อได้รับการแจ้งจากทาง รพ. ไม่ใช่แค่ 2-3 นาย เพราะที่ผ่านมาพบว่าไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้

“จากการประชุมกันวันนี้ได้รับรายงานเรื่องความพร้อมในการป้องกันเหตุของ รพ.จึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะช่วยลดปัญหาได้มาก ถ้าเกิดก็เกิดน้อยที่สุด เสียหายน้อยที่สุด แต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ อยากให้รพ.เตรียมความพร้อมให้มากที่สุด เพราะเป็นเทศกาลที่มีคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เยอะ โดยเฉพาะพื้นที่อีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง อย่างที่นครราชสีมา ปีนี้เกิดเหตุขึ้นถึง 2 ครั้ง” นายสาธิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการประชุมวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ มีการรายงานย้อนหลัง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2562 มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสถานพยาบาล สังกัด สธ.รวม 64 เหตุการณ์ แบ่งเป็นทะเลาะวิวาท 29 เหตุการณ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 22 เหตุการณ์ ทำลายทรัพย์สิน 4 เหตุการณ์ ก่อความไม่สงบ 1 เหตุการณ์ กระโดดตึก 6 เหตุการณ์ พนักงานเปลทะเลาะกับผู้ป่วย 1 เหตุการณ์ ญาติคนไข้ลวนลามผู้ป่วย 1 เหตุการณ์ จากเหตุการณ์ทั้งหมด ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ สธ.เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 15 ราย ประชาชนเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 58 ราย

157416788280

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อแยกเหตุการณ์ความรุนแรงในรพ.ทุกกรณี ออกเป็นรายปีแล้วพบว่า ปี 2555 เกิดเหตุการณ์รุนแรง 1 ครั้ง ปี 2557 เกิดเหตุ 1 ครั้ง ปี 2558 เกิดเหตุ 6 ครั้ง โดยในจำนวนนี้ เป็นการยกพวกตีกันที่ รพ.ตราด 1 ครั้ง และยกพวกตีกันที่ รพ.สิรินธร กรุงเทพฯ 1 ครั้ง ปี 2559 เกิดเหตุ 4 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการบุกทำร้ายคู่กรณี 1 ครั้ง ที่ รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 1 ครั้ง ปี 2560 เกิดเหตุ 11 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นเหตุทะเลาะวิวาทในรพ. 3 ครั้ง ที่รพ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ รพ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และ รพ.อุดรธานี ปี 2561 เกิดเหตุ 15 ครั้ง ในจำนวนนี้ เป็นการทะเลาะวิวาทในรพ. 1 ครั้ง คือที่ รพ.นาแก จ.นครพนม และ ปี 2562 เกิดเหตุ 26 ครั้ง ในเอกสารสรุปด้วยว่าสถานการณ์ความรุนแรงใน รพ.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับผลสำรวจเรื่องความปลอดภัยของห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล จากนายแพทย์ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ที่จัดทำผลสำรวจระหว่างวันที่ 20-30 เมษายน 2562 พบว่าความรุนแรงในโรงพยาบาล จะเกิดมากที่สุดในโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลทหารมากถึงร้อยละ 78 รองลงมาเป็นโรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 71 ถัดมาเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 59 โรงเรียนแพทย์ ร้อยละ 50 และโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 43

ส่วนระดับความรุนแรงที่พบ พบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในห้องฉุกเกิดส่งผลกระทบมากที่สุดในระดับปานกลาง คือกระทบผู้ป่วยแต่ยังไม่สูญเสียอวัยวะถึงร้อยละ 48 รองลงมาเป็นผลกระทบต่อผู้ป่วยในระดับสูง คือผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิต คือร้อยละ 24 และผลกระทบน้อยหรือไม่กระทบเลยคือร้อยละ 25 โดยเท่ากับว่า เกิดการความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลนั้น สามารถส่งผลถึงผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินได้มากกว่าร้อยละ 70

แบบสำรวจยังตั้งคำถามถึงผลกระทบที่มีต่อการตัดสินใจลาออกจากงานของบุคลากรในโรงพยาลอีกด้วยว่า การเกิดเหตุความรุนแรงในห้องฉุกเฉินนั้นมีผลถึงการตัดสินใจลาออกของบุคลากรสูงถึงร้อยละ 55

157416791584

นอกจากสถิติเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาลและแบบสำรวจจากแพทยสภา นายแพทย์สุขุม กาญจพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้มีการพยายามหาทางป้องกันเหตุความรุนแรง โดยกำชับให้มีการดูแลรักษาความปลอดภัยของโรงพยาบาลให้แน่นหนาขึ้น กันญาติออกจากห้องฉุกเฉิน ปิดล็อคประตูนิรภัย พร้อมประสานตำรวจคุมเข้มไม่ต้องรอให้เกิดเรื่อง ซึ่งมาตรการดูแลห้องฉุกเฉินและโรงพยาบาลมี 7 ข้อ ดังนี้

1. ทำแนวทางปฏิบัติป้องกันและจัดการความรุนแรง ทบทวน ฝึกซ้อมและปรับปรุงเป็นประจำ
2. จัดระบบควบคุมประตู หรือมีทางเข้า-ออก ที่ปลอดภัยหลายช่องทาง
3. จัดสถานที่พักคอยสำหรับญาติ จำกัดการเข้าออก
4. ตรวจสอบกล้องวงจรปิดให้พร้อมใช้งาน และติดตั้งเพิ่มในจุดเสี่ยง
5. จัดระบบคัดกรองโดยเฉพาะผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน และจัดบริการให้เหมาะสมกับความเร่งด่วน รวมทั้งให้สื่อสารกับญาติผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อลดความวิตกกังวล
6. จัดเวรยามรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง
7. จัดหาสัญญาณเตือนภัย หรืออุปกรณ์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และมีช่องทางแจ้งเหตุด่วนกับตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเครือข่ายอาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่