'บาทแข็ง' วิกฤติการส่งออกข้าวไทย

'บาทแข็ง' วิกฤติการส่งออกข้าวไทย

เมื่อวิกฤติค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย ไม่เพียงทำให้การทวงคืนแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก กลับคืนมาให้ไกลออกไปอีก ยังทำให้ผู้ส่งออกต้องปาดเหงื่อจากจำนวนเงินที่จะได้มาน้อยลงด้วย

ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 1 มาตั้งแต่ปี 2523 ติดต่อกันมาตลอด จนถึงปี 2554 โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าตลาด ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อภาวะการผลิต การค้า การส่งออกข้าวไทย เป็นภาวะวิกฤติของการค้าการส่งออกข้าวไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เมื่อต้นทุนข้าวสูงขึ้น ข้าวไปอยู่ในสต็อกของรัฐเกือบหมด ผู้ส่งออกหาข้าวส่งมอบให้ผู้ซื้อไม่ได้และปัญหาคุณภาพข้าวบางส่วนที่ด้อยลง ผู้ซื้อในต่างประเทศจึงหันไปซื้อข้าวจากประเทศผู้ส่งออกรายอื่นมากขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวของไทยลดลง

  • ปี 2555 ไทยส่งออกได้ 6.97 ล้านตัน ตกลงมาเป็นอันดับ 3 อินเดียส่งออกได้ 10.65 ล้านตัน เป็นอันดับเวียดนามส่งออกได้ 7.73 ล้านตัน เป็นอันดับ 2
  • ปี 2556 ไทยส่งออกได้ 7.05 ล้านตัน เป็นอันดับ 2 เวียดนามที่ส่งออกได้ 6.75 ล้านตัน เป็นอันดับ 3 และอินเดียส่งออกได้ 10.57 ล้านตัน เป็นอันดับ

ปี 2557 เมื่อรัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศในเดือน ก.ค.2557 ก็เริ่มบริหารจัดการระบายข้าวข้าวในสต็อกจากโครงการรับจำนำที่มีประมาณ 17 ล้านตันเศษ และเจรจาหรือเข้าประมูลขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับรัฐบาลหลายประเทศ การค้าข้าวเป็นไปตามกลไกตลาดเกือบปกติ ผู้ส่งออกกล้าเจรจาเสนอขายข้าวให้ลูกค้าเดิม เพราะมั่นใจว่าสามารถจัดหาข้าวส่งมอบให้ผู้ซื้อได้ โดยปี 2557-2561 การส่งออกข้าวของไทยเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ 

  • ปี 2557 ไทยส่งออกได้ 10.96 ล้านตัน
  • ปี 2558 ส่งออกได้ 9.79 ล้านตัน
  • ปี 2559 ส่งออกได้ 9.90 ล้านตัน
  • ปี 2560 ส่งออกได้ 11.67 ล้านตัน 
  • และปี 2561 ส่งออกได้ 11.08 ล้านตัน

แต่ในปี 2562 มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการส่งออกข้าวไทยคงมีปัญหาอีกแล้ว ปริมาณการส่งออกในแต่ละเดือนตั้งแต่ต้นปีลดลงตลอด คาดว่าสิ้นปีจะส่งออกได้ประมาณ 8.5 ล้านตัน ไม่ถึงเป้าหมาย 10 ล้านตัน เนื่องจากปรากฏว่าประเทศส่งออกข้าวหลายประเทศส่งออกข้าวมากได้มากขึ้น โดยเฉพาะอินเดียที่มีผลผลิตมาก ส่งออกข้าวนึ่งในราคาถูกกว่าข้าวไทยได้มากขึ้น

สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ปกติราคาข้าวไทยก็มีราคาสูงกว่าคู่แข่งอยู่แล้วโดยเฉพาะเวียดนามคู่แข่งหลัก เช่น ข้าวขาว 5% ตามตัวเลขของ FAO ในปี 2560 ข้าวขาว 5% ข้าวไทยราคา fob เฉลี่ยตันละ 398 ดอลลาร์ ข้าวขาว 5% เวียดนามราคา fob เฉลี่ยตันละ 372 ดอลลาร์ ข้าวไทยแพงกว่าข้าวเวียดนามตันละ 26 ดอลลาร์

ในปี 2562 เดือน ..ข้าวขาว 5% ข้าวไทยตันละ 410 ดอลลาร์ ข้าวเวียดนามตันละ 354 ดอลลาร์ ข้าวไทยแพงกว่าข้าวเวียดนามตันละ 56 ดอลลาร์ เดือน ..ข้าวขาวไทย 5% ตันละ 424 ดอลลาร์ ข้าวเวียดนามตันละ 338 ดอลลาร์ ข้าวไทยแพงตันละ 86 ดอลลาร์ นอกจากข้าวขาวแล้ว ปัจจุบันเวียดนามหันมาส่งออกข้าวหอมและข้าวนุ่มมากขึ้น แม้ข้าวหอม ความหอมจะสู้ข้าวหอมของไทยไม่ได้ แต่ราคาถูกตันละประมาณ 700 ดอลลาร์ ส่วนข้าวพันธุ์นุ่มราคาตันละประมาณ 500 ดอลลาร์ ขณะที่ข้าวหอมไทยราคาตันละ 1,000-1,100 ดอลลาร์

ในสภาวะปกติผู้ส่งออกข้าวไทยจะเสนอขายข้าวในราคาตลาดโลก โดยพยายามรักษาระดับราคาไม่ให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าข้าวเวียดนามมากเกินไป แต่เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่ามาตลอด จากเดิมในปี 2558 หนึ่งดอลลาร์เท่ากับ 35 บาท ในปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก 1 ดอลลาร์เท่ากับ 30 บาท 

การแข็งค่าของเงินบาทเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถลดราคาข้าวเพื่อสู้กับเวียดนามหรือคู่แข่งอื่นได้ แม้ราคาข้าวของประเทศคู่แข่งจะลดลงจากเดิมก็ตาม ดังเหตุผลและข้อเท็จจริงตามตัวอย่างต่อไปนี้ คือ

ในปี 2560 ข้าวขาว 5% ของไทยราคาตันละ 398 ดอลลาร์ เมื่อส่งออกไป 1,000 ตัน จะได้ค่าข้าว 3.98 แสนดอลลาร์ ส่งออกเดือน ม.ค.2560 อัตราแลกเปลี่ยน (ธนาคารกรุงเทพ ณ 11 ม.ค.2560) 1 ดอลลาร์เท่ากับ 34.44 บาท จะได้เป็นเงินบาทเท่ากับ 13,707,120 บาท ในปี 2562 ผู้ส่งออกยืนราคาส่งออกข้าวขาว 5% เท่าราคาในปี 2560 ส่งออกไป 1,000 ตันจะได้เงินค่าข้าว 3.98 แสนดอลลาร์เท่าเดิม

ถ้าเป็นการส่งออกในเดือน ..2562 อัตราแลกเปลี่ยน วันที่ 11 ..2562 เงิน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 30.73 จะได้เป็นเงินบาท 12,230,540 บาท ทั้งที่ราคาส่งออกที่ขายเป็นดอลลาร์เท่ากับปี 2560 แต่จะได้ค่าข้าวเป็นเงินบาทน้อยลง 1,476,580 บาท ถ้าเป็นการส่งออกในเดือน ..2562 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 29.26 บาท จะได้ค่าข้าวเป็นเงินบาท 11,645,480.0 บาท น้อยลงกว่าเดิมถึง 2,061,640 บาท หนีการขาดทุนไม่พ้น หากลดราคาส่งออกลงจะยิ่งขาดทุนมากขึ้น

จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจะทำให้ผู้ส่งออกได้ราคาข้าวเป็นเงินบาทน้อยลง ตามสัดส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นดังตัวอย่างข้างต้น เพื่อไม่ให้ส่งออกแล้วขาดทุน นอกจากไม่อาจลดราคาส่งออกให้ใกล้เคียงกับคู่แข่งแล้ว อาจต้องขึ้นราคาส่งออกอีกด้วย ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจึงเป็นตัวการที่ทำให้ข้าวไทยแพงกว่าข้าวคู่แข่งขึ้นไปอีก จึงทำให้ไทยส่งออกข้าวได้น้อยลงจากที่ประมาณการไว้ เป็นวิกฤติของการส่งออกข้าวไทยอีกครั้งหนึ่งจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นมาก

หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งมากเกินไปโดยเร็ว จะส่งผลกระทบต่อการค้าส่งออกข้าวของไทยในระยะยาวที่ยากจะแก้ไขเยียวยาได้ เมื่อข้าวไทยยังมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง ผู้ซื้อก็จะหันไปซื้อจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่าแม้คุณภาพจะสู้ข้าวไทยไม่ได้ และถ้าผู้บริโภคได้บริโภคข้าวจากประเทศอื่นมากขึ้นบ่อยขึ้น จนชินในรสชาติ ก็อาจจะไม่หวนกลับมาซื้อและบริโภคข้าวไทยที่มีราคาแพงก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าการปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งมาก เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการส่งออกข้าวไทย ต่อชาวนาไทยอย่างมหันต์