'นพ.สุกิจ' ย้ำระเบียบกมธ. เป็นข้อบังคับประชุมสภาฯ ไม่ได้ก้าวก่ายหน้าที่

'นพ.สุกิจ' ย้ำระเบียบกมธ. เป็นข้อบังคับประชุมสภาฯ ไม่ได้ก้าวก่ายหน้าที่

ที่ปรึกษา "ชวน" ย้ำระเบียบ กมธ. เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ยืนยันไม่ได้ก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ พร้อมตำหนิ "จิรายุ" ไม่รู้ข้อเท็จจริง

นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงชี้แจงกรณี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงนามในประกาศระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการกำหนดให้ประธานกรรมาธิการคณะต่างๆ ต้องรายงานประธานสภาทุกวันศุกร์ หลังจากที่มีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่า การออกระเบียบนี้ ไม่ได้จู่ๆ จะออกได้ แต่สืบเนื่องจากข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรกำหนดว่า เมื่อคณะกรรมาธิการสามัญจะศึกษาเรื่องใดๆ ให้คณะกรรมาธิการสามัญรายงานให้ประธานสภาฯทราบ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน และหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่ประธานสภาฯกำหนด

ดังนั้น การที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ออกมาพูดในทำนองไม่พอใจกรณีดังกล่าว ก็เท่ากับว่า อ่านข้อบังคับฯ ไม่ครบถ้วนและไม่รู้ข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่า ระเบียบดังกล่าว คณะทำงานด้านกฎหมายเป็นผู้ร่าง ประธานสภาไม่ได้เป็นผู้เขียนเอง ไม่ได้ร้ายแรง ไม่ได้เป็นการก้าวก่าย และการที่ให้กรรมาธิการรายงานทุกวันศุกร์ ก็เคยดำเนินการมาก่อน แต่ไม่เคยมีใครออกมาหัวร้อนหรือตีโพยตีพายแบบ นายจิรายุ ส่วนที่มีการระบุว่ เป็นการล้วงลูกการทำงานของฝ่ายค้านนั้น ก็ถือว่าเป็นการเพ้อเจ้อไปเอง

อ่านข่าว-หนุน 'ชวน' กฎเหล็กคุม 'กมธ.' ห้ามเชิญมั่วสร้างปมขัดแย้ง

ด้าน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวย้ำว่า ระเบียบดังกล่าว เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ 2562 และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งหากคณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องใดที่ซ้ำซ้อนกัน ประธานแต่ละกรรมาธิการก็ต้องมาประชุมร่วมกันตามระเบียบ หากตกลงกันไม่ได้ ประธานสภาฯ จึงจะเป็นผู้วินิจฉัยให้คณะกรรมาธิการใดกรรมาธิการหนึ่งเป็นผู้พิจารณา ดังนั้น นายจิรายุ ใช้เหตุผลใดในการระบุว่า ประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจ อย่าดันทุรังและบิดเบือนข้อมูล ประธานสภาฯ ตั้งใจทุ่มเททำงานให้กับสภาฯ และประชาชน ซึ่งในการประชุมสภาฯวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ ก็เป็นดำริของประธานสภาร่วมกับ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่ต้องการพิจารณาญัตติซึ่งเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงขอ นายจิรายุ อย่าแสดงอะไรเป็นการดูถูกประชาชน ขอให้แสดงความสามารถในฐานะผู้แทนราษฎรให้เห็น

ส่วนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นพ.สุกิจ ระบุว่า มีอยู่ 5 ญัตติด่วน ยอมรับว่า ยากที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสัปดาห์นี้ เพราะตามวาระมีเรื่องรับทราบถึง 5 เรื่อง แล้วจึงจะเข้าสู่การพิจารณาญัตติด่วน ดังนั้น จะสามารถตั้งกรรมาธิการในสัปดาห์นี้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ แต่ยืนยันว่า ไม่ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายนนี้แต่อย่างใด เนื่องจากต้องพิจารณาญัตติที่เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก่อน ส่วนเรื่องด่วนให้เป็นไปตามวาระปกติ