ผ่ามุมมอง 'วิชา พูลวรลักษณ์' โรงหนังยังไม่ถูกดิสรัป..!!

ผ่ามุมมอง 'วิชา พูลวรลักษณ์' โรงหนังยังไม่ถูกดิสรัป..!!

ในวันที่ “ดิจิทัล ดิสรัป” ธุรกิจครึกโครม แล้ว “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” (โรงหนัง) ซึ่งเป็นการเสิร์ฟความบันเทิงนอกบ้าน เจ้าพ่อโรงหนังมองการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไปเจาะวิชั่น 2025 วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป

ตลอดเวลา 25 ปีของการขับเคลื่อนธุรกิจโรงหนัง “วิชา” บอกว่าไม่ใช่เกิดจากการแข่งขันกับคู่แข่งหรือใคร แต่เกิดจาก Passion ของตนเอง ประกอบการสร้างโรงหนังอยู่ใน “สายเลือด” ตั้งแต่บิดา รวมถึงตระกูล พูลวรลักษณ์

157414619849

การสร้างโรงหนังของวิชา สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการผุดโมเดลสแตนอะโลน เพื่อตอบโจทย์คนดู โรงหนังไม่ใช่แค่สถานที่ดูหนังเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ตอบไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค จากนั้นขยายโรงหนังในพื้นที่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ เทสโก้ โลตัส ที่อดีตเติบโตเป็นว่าเล่น จนปัจจุบันเมเจอร์เป็น “รายใหญ่” ที่เกาะติดห้างเทสโก้ โลตัว และบิ๊กซี เปิดสาขาไม่หยุด เป็นต้น ซึ่งทุกสเต็ปสร้างการเติบโตให้ “เมเจอร์ฯ” อย่างต่อเนื่องด้วย

เมื่อเลือกทุ่มเทให้กับการทำโรงหนัง ที่ผ่านมา “วิชา” จึงเดินทางทั่วโลกปีนึงกว่า 180 วัน ตระเวนดูโรงหนังที่ดีที่สุด เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจ แต่ปัจจุบันลดลงมาก และเดินทางสั้นลง 3-4 วัน ทั้งหมดเพื่อทำให้โรงหนังของเมเจอร์เป็น “ที่สุด” รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสียง ระบบฉาย ตลอดจนบริการ จึงเห็น โรงหนัง “ไอแม็กซ์” จอยักษ์ 3 มิติ, คิดส์ ซีเนม่า โรงหนังเจาะวัยเด็กต่ำกว่า 12 ที่ไม่เคยได้ลูกค้า มาเป็นกลุ่มที่ทำรายได้ใหม่ ล่าสุดนำเทคโนโลยีการฉายหนังด้วยระบบ Giant Laser Screen หรือ GLS มาเอาใจคนดูหนัง ซึ่งไทั้งหมดจะต้องบินไปโน้วน้าวผู้บริหารต่างๆมาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุน

ดิจิทัล ดิสรัป เป็นสิ่งที่เรากลัว การได้เห็นเพื่อนในวงการธุรกิจโดนดิสรัปจำนวนมาก เป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่ธุรกิจโรงหนังยังไม่ถูกดิสรัป การมีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์(ดูหนังออนไลน์)ต่างๆ จะดิสรัปการรับชมความบันเทิงภายในบ้าน(Home Entertianment)มากกว่า และเราได้เจรจากับพันธมิตรเหล่านั้นเพื่อขายคอนเทนท์ให้ แต่สิ่งที่เราต่อกร คือไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องการ คอนเทนท์คุณภาพ หรือ Content is King เสิร์ฟคนดู ขณะที่ “เมเจอร์ฯ” ไม่ได้มีจำกัดการโตแค่ธุรกิจโรงหนัง แต่ปัจจุบันขยายสู่เป็นผู้สร้างหนัง ด้วยการร่วมมือกับ​ พันธมิตร” ผลิตหนังไทยมากขึ้น เป็นหนึ่งใน จิ๊กซอว์” ผลักดันอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ให้โต

ผ่าน 25 ปีอย่างแข็งแกร่ง การจะโตต่อในปี 2025 วิชา ชูกลยุทธ์ เมเจอร์ 5.0” พร้อมวาง 3 เสาหลักเคลื่อนธุรกิจ เพื่อ ดับเบิ้ล รายได้จากการขายตั๋วหนังแตะ 1.2 หมื่นล้านบาท

เสาหลักแรก การดึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายกระดับโรงหนังเพิ่มอรรถรสการรับชม โรงหนังเด็ก ไอแม็กซ์ GLS จึงมาครบ เพื่อไม่ให้เมเจอร์เป็นแค่โรงหนัง รวมถึงการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการจองตั๋ว ซึ่งต้องเป็น “ซูเปอร์แอพ” เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่าการจองตั๋วหนัง ที่ผ่านมาเมเจอร์ฯ จึงทำงานใกล้ชิดกับหัวเว่ย อเมซอน ตลอดจน “สตาร์ทอัพ” มากมาย ดึงเอไอ การเรียนรู้ของจักรกลเพื่อรู้พฤติกรรมผู้บริโภคชอบดูหนังเรื่องอะไร ดูวันและเวลาไหน เป็นต้น ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าสูงสุด

“เราทำโรงหนังไม่ใช่แค่ Just a cinema แต่ต้องทำโรงที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทั้งสยามภาวลัยฮอตมาก เราจะเปลี่ยนระบบฉายเป็นเลเซอร์ นำเครื่องเสียงดีสุดใส่ในโรงเพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ใหม่ และเราต้องทันสมัยตลอด เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยเมเจอร์เราจะมาผสานธุรกิจหมด และจะทรานส์เฟอร์แอพทั้งหมดเป็นซูเปอร์แอพนี่ถือเมเจอร์ 5.0”

 เสาหลักที่ การสร้างโรงหนังต่อเนื่อง ปีหน้าเปิด 30 สาขา เน้นต่างจังหวัดมากขึ้น ปัจจุบันเมเจอร์ฯมีโรงหนัง 169 สาขา 810 โรง 183,958 ที่นั่ง ใน 60 จังหวัด แบ่งเป็นกรุงเทพ 46 สาขา ต่างจังหวัด 115 สาขา ต่างประเทศ 8 สาขา โดยวางงบลงทุนปกติ (Capex) 500 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจ ฮาร์ดแวร์รองรับคนดู ซอฟท์แวร์คือการสร้างหนังต้องต่อยอด เมเจอร์ฯ จับมือทุกพันธมิตรผลิตหนังไทย ตั้งเป้า 52 เรื่องต่อปี งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อเรื่อง หวังทำให้หนังไทยมี “คุณภาพ” ลบภาพจำ(Perception)ผู้บริโภคที่ส่ายหน้าไม่ดูหนังไทย เพราะมองว่าด้อยคุณภาพและน่าผิดหวัง

การลงทุนสูง วิชา ย้ำว่าเป็นกุญแจสำคัญยกระดับหนังไทยให้มีคุณภาพเพื่อไต่สู่ Thollywood(Thailand+Hollywood) ทัดเทียบฮอลลีวู้ดและบอลลีวู้ดของอินเดีย ใบเบิกทางหนังไทยโกอินเตอร์คือการร่วมทุนจีน เกาหลี อาศัย “จุดแข็ง” การเขียนบทมาเสริมทัพการผลิต(โปรดักชั่น)

“ประเทศไทยน่าจะเป็นฮับของอุตสาหกรรมหนังได้ เป็นพันธกิจที่ต้องการส่งเสริมหนังไทย ส่งออกไปยังต่างประเทศ” ล่าสุด หนังร่วมทุนระหว่างเมเจอร์ฯและจีนเตรียมฉายช่วงม.ค.-ก.พ.ปีหน้า ประเดิมตีตลาดจีน ที่อุตสาหกรรมใหญ่มูลค่ากว่า 4.5 แสนล้านบาท

 เสาหลักสุดท้าย การโตอย่างยั่งยืน เพราะยุคนี้ผู้บริโภคมใส่ในผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมเจอร์ฯ ไม่ละเลยเทรนด์เหล่านี้ จึงรณรงค์ลด ละ เลิกใช้พลาสติก แยกประเภทขยะ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ฯ รวมถึงสานภารกิจมูลนิธิ “เมเจอร์แคร์” ให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสได้ดูภาพยนตร์ 5 แสนคน ทำแล้วกว่า 2.8 แสนคน เป็นต้น

หนังเป็นมากกว่าหนัง เพราะสร้างแรงบันดาลใจ และเปลี่ยนชีวิตผู้คนได้

จากแผนดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะสร้างการเติบโตรายได้ 10-15% ต่อเนื่อง และรายได้จากหนังไทยจะมีสัดส่วน 50% จากปัจจุบัน 26% ขณะที่อุตสาหกรรมโรงหนังปีนี้มูลค่า 9,000 ล้านบาท เติบโต 15%