เศรษฐกิจโลกกินไทย ป้ายหน้า 63 ไปไหนต่อ

เศรษฐกิจโลกกินไทย ป้ายหน้า 63 ไปไหนต่อ

หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.เผยถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส3ของปี 2562 ว่าขยายตัว 2.4% ส่วนทั้งปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.6% ส่วนปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ดูเป็นตัวเลขที่พอมีความหวัง

หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เผยถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส3ของปี 2562 ว่าขยายตัว 2.4% ส่วนทั้งปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.6% ส่วนปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% ดูเป็นตัวเลขที่พอมีความหวัง ทำให้พอจะบอกลาปี 2562  แบบอยู่ยากเพื่อไปสู่ปี 2563 เศรษฐกิจไทยกำลังจะไปในทิศทางไหน

วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่าประเด็นที่ สศช.มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจคือเรื่องของการส่งออกเนื่องจากเป็นภาคส่วนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท

157415812236

โดยขณะนี้ภาคการส่งออกสินค้า (ไม่รวมภาคบริการ) มีสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 50% ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตและการจ้างงานเป็นจำนวนมาก โดยแนวโน้มของสงครามการค้ายังคงมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อไปถึงปี 2563 หรือนานกว่านั้น ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าของโลก และส่งผลมายังซัพพลายเชนในไทยซึ่งรัฐบาลจะต้องเตรียมแผนที่จะรองรับและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้นเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนในหลายประเด็นเช่น ในเรื่องของเบร็กซิท ที่จะทำให้เศรษฐกิจของยูโรโซนและสหราชอาณาจักรเผชิญกับความผันผวน เศรษฐกิจของจีนที่อาจขยายตัวได้ต่ำกว่า 6% และการปรับค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลงรวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศต่างๆ เป็นต้น

“สงครามการค้าคงเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีข้อยุติโดยง่าย แม้จะมีการเจรจากันเป็นระยะๆ และในระยะสั้นอาจมีการชะลอการเรียกเก็บภาษี แต่เรื่องการยกเลิกกำแพงภาษีสินค้าต่อกันคงต้องมีการเจรจาอีกหลายครั้ง และต้องเป็นข้อตกลงที่สหรัฐฯพอใจ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เราก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะจบลงเมื่อไหร่ เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคนที่มีอำนาจมาก 2 คนคือประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศว่าจะตกลงกันได้เมื่อไหร่”

157409623646

อ่านข่าว-เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวปีหน้า?

ทั้งนี้ สศช. ได้แนะถึงวิธีการบริหารเศรษฐกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว การรักษาแรงขับเคลื่อนของการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ การสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชน การดูแลเกษตรกร แรงงานผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ เอสเอ็มอี แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามเร่งรักษาภาคการส่งออกให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3%  

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังกับสิ่งที่เป็นอยู่จริงย่อมแตกต่างกัน เพราะ ไตรมาส 3 ปีนี้ การส่งออกติดลบแล้ว 1.0% และสศช.ประเมินว่าการส่งออกปีนี้ จะติดลบ2.0%  ส่วนปีหน้าประเมินว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้2.3%  หากทำได้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในทางที่ดีแต่ถ้าทำไม่ได้เศรษฐกิจไทยก็จะเป็นไปในทิศทางที่กลับกัน โดย สศช.กำหนดช่วงไว้ที่ ปี2563 จะขยายตัว 2.7-3.7%

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังเป็นสถาบันหลักหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่น่าพอใจก็ต้องดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาซึ่งมาตรการที่ได้ให้กระทรวงการคลังเตรียมไว้นอกเหนือจากนี้ก็คือ

1.มาตรการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญ โดยจะต้องมีมาตรการซึ่งต่อจากส่วนของมาตรการชิม ช้อป ใช้ ที่รัฐบาลได้โปรโมทไปก่อนหน้านี้และได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน

2.มาตรการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม โดยกำลังดูข้อมูลอยู่ว่าจะออกมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม ส่วนมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV)ได้บอกกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่าบางช่วงต้องผ่อนปรนบ้าง โดยมาตรการลักษณะนี้ได้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจในขณะนี้ไม่ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือเกิดฟองสบู่ มาตรการลักษณะนี้จะยิ่งทำให้อสังหาริมทรัพย์ขายออกไปยากมากขึ้นจึงควรจะมีการทบทวนให้เหมาะสม

“เศรษฐกิจของประเทศไทยมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพเห็นได้จากเงินทุนต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาต่อเนื่อง และนักลงทุนต่างชาติยังเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน ขณะนี้บริษัทต่างชาติและกลุ่มธุรกิจของต่างประเทศหลายแห่งได้เดินทางเข้ามาพบ ทั้งหมดแสดงความสนใจประเทศไทยเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในภูมิภาค แต่ภายในประเทศเราเองที่ชะลอการลงทุนลงไป อยากให้เอกชนลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนที่ไปลงทุนในต่างประเทศนั้นก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นเรื่องทางธุรกิจเพียงแต่ควรมาลงทุนในประเทศมากขึ้น”

การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของการมองไปข้างหน้า จากจุดนี้ จะพบว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตข้างหน้ากำลังถูกท้าทายจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ไม่สามารถควบคุมได้  ไม่รู้ว่า จะถูกกลืนกินให้จบหายไปหรือท้ายที่สุดจะฟื้นตัวเติบโตได้ ก็สุดที่จะคาดเดาถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะปรับโหมดการเติบโตของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนได้ตัวตัวเองอย่างแท้จริง