ธปท.ชี้ลดดอกเบี้ย 'ช่วยลูกหนี้' ได้ 1.8 ล้านคน

ธปท.ชี้ลดดอกเบี้ย 'ช่วยลูกหนี้' ได้ 1.8 ล้านคน

 "ธปท." เผยมีลูกหนี้ทั้งภาคธุรกิจและรายย่อย ได้ประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมา กว่า 1.8 ล้านคน ช่วยลดภาระดอกเบี้ยรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ด้านเอ็นพีแอลยังไม่ถึงจุดพีค ห่วงธุรกิจขนาดกลางไหลเป็นเอ็นพีแอลอีก ผลจากเศรษฐกิจชะลอ

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผ่านไปสู่ระบบการเงิน หลังธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยลงตาม  ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝาก  โดยปรับลดลงทั้ง อัตราดอกเบี้ย MLR ,MOR และMRR

การปรับลดดอกเบี้ยลงทั้ง2ครั้งของระบบธนาคารพาณิชย์ มีลูกหนี้ของธนาคารได้รับประโยชน์มากกว่า 1.8 ล้านราย โดยเป็นลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ราว 3.8 แสนราย หรือคิดเป็นภาระดอกเบี้ยที่ลดลง 6,180 ล้านบาทต่อปี   หรือช่วยช่วยลดภาระให้กับธุรกิจราว 1.6 หมื่นบาทต่อรายต่อปี  อีกทั้งยังช่วยรายย่อยผู้กู้ซื้อบ้านได้ถึง 1,4 ล้านคน คิดเป็นภาระดอกเบี้ยที่ลดลง 6,890 ล้านบาทต่อปี ทำให้ช่วยลดภาระผู้กู้บ้านต่อรายได้ 6 พันบาทต่อปี

สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 3 ปี2561 โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล พบว่ายังไม่แตะระดับสูงสุด เนื่องจากยังเห็นแนวโน้มเอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อ หากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลต่อคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ในพอร์ตต่างๆให้มีคุณภาพด้อยลง 

 "ผลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว  และสงครามทางการค้า เริ่มมีผลต่อกระทบต่อคุณภาพหนี้ของธุรกิจขนาดกลางที่มีขนาดสินเชื่อราว 100-500 ล้านบาท ให้มีคุณภาพหนี้ด้อยลง ดังนั้นธปท.อยากให้ธนาคารดูแลกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ และช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอาหาร ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ปิโตรเคมี เป็นต้น" 

ขณะที่เอ็นพีแอลในกลุ่มสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต ยังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน  โดยในช่วงไตรมาส3 ปี 2561 สินเชื่อบ้าน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่3.49 % จาก 3.34 % สินเชื่อรถยนต์เอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.86 % จาก 1.82 % เอ็นพีแอลสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.65 % จาก 2.48 % แต่การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลกลุ่มนี้ธปท.ไม่ห่วงมากนัก เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันและเป็นสินเชื่อที่มีมาร์จินสูง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ เอ็นพีแอลทั้งระบบน่าจะลดลงอยู่ที่ระดับ 3 % ได้ จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.01 % หรือ 4.69 แสนล้านบาท จากการไรท์ออฟ การขายหนี้ออกไปของธนาคารพาณิชย์ 

 สำหรับภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ คาดว่าปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นสินเชื่อโตต่ำกว่าระดับ 5 % จากเป้าที่ระบบธนาคารพาณิชย์คาดไว้ 3-5 % เนื่องจากหากดู 9 เดือนขงปีนี้ พบว่าสินเชื่อเติบโตได้เพียง 1.5 % จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการคืนเงินกู้ของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้และกำไรของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ คาดว่ามีโอกาสทำได้ใกล้เคียงปีก่อน

ส่วนผลของมาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือมาตรการแอลทีวี ที่ธปท.ออกไปก่อนหน้านี้ พบว่า ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้น และผู้ซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น และทำให้การเก็งกำไรราคาที่อยู่อาศัยให้ลดลงได้  โดยหากดูการขยายตัวของบัญชีสินเชื่อปล่อยใหม่ในช่วง 9 เดือนพบว่า โดยรวมทั้งแนวราบและแนวสูง ในสัญญาแรกขยายตัวได้ดีที่ 8.8 % แต่สัญญาที่สองติดลบ 14 % และสัญญาที่ 3 ติดลบ 31.4 %