'การบิน' โอดน้ำมันกระทบ ท่ามกลางสงครามราคาตั๋ว

 'การบิน' โอดน้ำมันกระทบ ท่ามกลางสงครามราคาตั๋ว

ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2562 ที่ผ่านพ้นไปถือว่าสะท้อนภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาหลายกลุ่ม ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนและค่าเงินบาทที่แข็งค่า กระทบความสามารถในการทำกำไรของหลายบริษัทปรับตัวลดลง

กลุ่มธุรกิจสายการบินในรอบนี้ถือว่าได้รับผลกระทบหนักจนส่งผลต่อกำไรรุนแรง บ้างรายพลิกมาขาดทุน และบางรายประสบภาวะขาดทุนหนักมากยิ่งขึ้น จนทำให้กำไรทั้งกลุ่มในไตรมาส 3 ปี 2562 ขาดทุนอยู่ที่ 5,672 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.62% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และงวด 9 เดือน ขาดทุน 13,266 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163.10 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ตัวเลขดังกล่าวสายการบินต่างระบว่ามีผลมาจากปัจจัยค่าเงินบาท รวมไปถึงต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถือว่าเป็นต้นทุนใหญ่สุดของทุกสายการบิน 30-40 % ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อตัวเลขกำไรยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจึงทำให้ผู้ประกอบการสายการบินจำเป็นต้องเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อประคองธุรกิจในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเห็นปรากฎการณ์ผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำจับมือเข้าหาภาครัฐเพื่อหาทางลดผลกระทบด้วยการให้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับเครื่องบินลง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากปัจจุบันถูกเก็บภาษีอยู่ที่ 4.726 บาทต่อลิตร โดยสนอให้เปลี่ยนไปใช้เป็นขั้นบันไดตามค่าเงินบาท

ประเด็นดังกล่าวมีการถกเถียงกันว่าสมควรจะปรับลดลงหรือไม่ เพราะกรารปรับโครงการภาษีสรรพสามิตน้ำมันมีการปรับรอบใหญ่เมื่อปี 2560 ในทุกประเภทน้ำมัน เพื่อให้ราคาสะท้อนภาวะและเป็นการปรับขึ้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

นื่องจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันการบินอยู่ที่ 0.2 บาทต่อลิตรมาตั้งแต่ปี 2535 และไม่มีการปรับ จนปี 2560 มีการปรับรอบใหญ่ และเมื่อเทียบกับน้ำมันประเภทอื่นมีการปรับภาษีเช่นกัน จนทำให้ภาษีน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 5-6 บาทต่อลิตร และน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร

ปัญหาของธุรกิจสายการบินที่มีมาตลอดนอกจากต้นทุนด้านราคาน้ำมันแล้ว ต้องยอมรับว่ามีเรื่องของการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ไทยไลอ้อนแอร์ จากอินโดนีเซีย ไทยเวียดเจ๊ท จากเวียดนาม และ นิวเจน แอร์เวย์ ซึ่งมาพร้อมกับการทำการตลาดด้วยตั๋วราคาถูก

157409586120

ด้วยสภานการณ์ธุรกิจที่มีการแข่งขันที่สูงจากสายการบินเดิมและสายการบินรายใหม่เข้ามาเปิดตลาดในภูมิภาคนี้ทำให้การแข่งขันด้านราคาตั๋วเครื่องบินจึงรุนแรงในช่วงปี 2561 เรียกได้ว่าผู้ประกอบการบางรายยอมแบกภาระในส่วนนี้เอาไว้เพื่อไม่ให้ไปกระทบราคาตั๋วที่หั่นราคาลงมาก

ดังนั้นจึงทำให้ตัวเลขอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้น แต่ยังห็นกำไรที่ทรุดตัวลดลง หากไล่แต่ละสายการบินยังพบว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ยังเผชิญภาวะขาดทุนเพิ่มขึ้นมากที่สุด

จากไตรมาส 3 มีรายได้ 45,016 ล้านบาท ลดลง 6.1 % จากช่วงเดี่ยวกันปีก่อน และขาดทุน 4,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.51 % เป็นการลดลงของรายได้หลักแทบทุกรายการ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายลดลงก็ตาม มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนน้ำมันที่ลดลง และบริษัทยังต้องรับผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบิน

เช่นเดียวกับสถานการณ์ของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ที่ยังมีผลขาดทุนในงวดดังกล่าวและบริษัทยังเผชิญความยากลำบากในการแข่งขัน ทำให้บริษัทยังต้องเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายและเร่งหาพันธมิตรเพื่อเข้ามาสร้างความแข็งแกร่ง

ด้านบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เป็นเบอร์หนึ่งในสายการบินไลว์คอวแอร์ไลน์ ยังหนีสภาพภาวะขาดทุนไม่ได้ จากไตรมาส 3 มีรายได้ 9,661.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 % แต่ขาดทุน 416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.20 %

ขณะที่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA มีกำไรไตรมาส 3 ที่ 58 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 61 % จากรายได้ค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ลดลง แต่รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 4.31 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.65 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร

รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสายการบินและการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ราคาบัตรค่าโดยสารเฉลี่ย ลดลง 5.1 % และรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อหน่วยลดลง 3.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า