ลุยตรวจสอบยึดทรัพย์ 4 วงแชร์ ‘แม่มณี-Forex 3D-NICE REVIEW-น้าหลุยร่างทรง’

ลุยตรวจสอบยึดทรัพย์ 4 วงแชร์ ‘แม่มณี-Forex 3D-NICE REVIEW-น้าหลุยร่างทรง’

ปปง. ลุยตรวจสอบเพื่อยึดอายัดทรัพย์สิน 4 คดีแชร์ดัง “แม่มณี” “FOREX 3D”, “NICE REVIEW” และ “แชร์น้าหลุยร่างทรง”

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) กล่าวว่า คณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 11/2562 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ได้มีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คดีแชร์ลูกโซ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จำนวน 4 รายคดี ซึ่งพฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ดังนี้

1. รายคดี นางสาววันทนีย์ ทิพย์ประเวช กับพวก หรือ “คดีแชร์แม่มณี”
พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นางสาววันทนีย์ ทิพย์ประเวช มีพฤติการณ์หลอกลวงชักชวนประชาชนโดยทั่วไปผ่านทางเฟซบุ๊กให้ร่วมออมเงิน (แชร์แม่มณี) โดยกล่าวอ้างผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ลงทุนสูง ร้อยละ 1,116 – 3,040.45 ต่อปี จนมีผู้หลงเชื่อและเข้าร่วมลงทุนกับนางสาววันทนีย์ฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงแรกนางสาววันทนีย์ฯ ได้จ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนใหม่ในครั้งต่อไป แต่ต่อมา นางสาววันทนีย์ ไม่สามารถคืนทั้งต้นเงินลงทุนและผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้ตามกำหนด เมื่อผู้ลงทุนทวงถามก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงและไม่สามารถติดต่อนางสาววันทนีย์ฯ ได้ เป็นเหตุให้ผู้ลงทุนได้รับความเสียหายมากกว่า 4,200 ราย มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,200 ล้านบาท

2. รายคดี นายอภิรักษ์ โกฏธิ กับพวก หรือ “คดีแชร์ FOREX 3D”
พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นายอภิรักษ์ โกฎธิ กับพวก ใช้เว็บไซต์ www.Forex-3D.com เป็นช่องทางในการหลอกลวงโฆษณาชักชวนประชาชนทั่วไปให้นำเงินไปลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (FOREX) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60 – 80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการเทรดฟอเร็กซ์ และประกันเงินต้นที่ร่วมลงทุนร้อยละ 100 อีกทั้งยังมีการชักชวนผ่านระบบแนะนำสมาชิก หากสมาชิกรายใดสามารถชักชวนบุคคลอื่นมาร่วมลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 1 – 5 ของผลตอบแทนของสมาชิกรายใหม่ที่ชักชวนมาร่วมลงทุน ทำให้มีผู้หลงเชื่อและร่วมลงทุน ต่อมาไม่จ่ายผลตอบแทนและไม่คืนเงินทุนตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้มีผู้เสียหายจากการร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยในเบื้องต้นมีผู้เสียหายกว่า 7,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,400 ล้านบาท

3. รายคดี บริษัท เอนเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด กับพวก หรือ “คดีแชร์ NICE REVIEW”
พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : บริษัท เอนเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด เปิดรับสมัครคนกดไลค์กดแชร์โดยเรียกเก็บเงินค่าประกันการทำงานก่อนการทำสัญญาจ้างงาน โดยมีการโฆษณาเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทว่าจะให้ค่าจ้างในอัตราที่เพิ่มขึ้น หากผู้สมัครจ่ายค่าประกันการทำงานในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อเข้ามาสมัครและยอมจ่ายเงินค่าประกันการทำงานในอัตราที่สูง เป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อเข้ามาสมัครและยอมจ่ายเงินค่าประกันการทำงานในอัตราที่สูงให้แก่ผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก ต่อมาผู้ต้องหาได้มีการจ่ายเงินค่าทำงานให้แก่ผู้สมัครล่าช้าจนมีการขอยกเลิกสัญญาจ้างงานและขอคืนเงินประกันการทำงาน แต่ผู้ต้องหาไม่ยอมคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ผู้สมัครและได้ปิดบริษัทหลบหนีไป โดยในคดีดังกล่าว คาดว่ามีผู้เสียหายจำนวนหลายหมื่นคน และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

4. รายคดี นางพันธุ์ทิพา นัยยทิพย์ กับพวก หรือ “คดีแชร์ น้าหลุยร่างทรง”
พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นางพันธุ์ทิพา นัยยทิพย์ พร้อมพวก ได้ชักชวนผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุนเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาผู้มีรายได้น้อย กองทุนเกตุกัญญาฟาร์ม และกองทุนน้าหลุยส์ โดยจัดให้มีการประชุม และพูดชักจูงใจผู้เข้าร่วมประชุมให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยบอกว่าจะนำเงินไปลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ซื้อเครื่องจักรเพื่อการเกษตร และช่วยเหลือผู้ที่ไร้โอกาสทางสังคม โดยอ้างว่าสมาชิกฯ จะได้รับผลตอบแทนในอัตราสูง รวมทั้งมีการนำภาพหญิงชราแต่งกายคล้ายนักบวชมากล่าวอ้างว่าเป็น น้าหลุยส์ หรือหม่อมหลุยส์ หรือพันโทพันธุ์ทิพา นัยยทิพย์ ซึ่งทำงานในวัง และจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนจน และยังกล่าวอ้างว่าเงินที่นำไปลงทุน จะเอาไปเสียภาษีเพื่อนำเงินในวังออกมาแจกจ่ายให้กับสมาชิกกองทุนน้าหลุยส์ นอกจากนี้เงินที่ได้รับจากสมาชิกทางสมาคมจะนำไปช่วยในงานพระราชพิธีของในหลวง ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อเข้าร่วมรับฟังและร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก

พล.ต.ต.ปรีชา กล่าวต่อว่า เมื่อคณะกรรมการธุรกรรมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว สำนักงาน ปปง. จะเร่งดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดและบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิด เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

จากนั้น จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่ง ความเสียหายและจำนวนความเสียหาย ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ต่อไป โดยผู้เสียหายสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th หรือโทรสอบถามทางสายด่วน ปปง. 1710 ในวันและเวลาราชการ และ ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบว่า ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ (1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ (2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ (3) ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารหรือบันทึก ข้อมูล หรือทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้ หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ คณะกรรมการธุรกรรมยังได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติมในรายคดีบริษัท เดอะซิสเต็ม ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ จำกัด และบริษัท อินโนวิชั่นโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก จำนวน 2 รายการ มูลค่าทรัพย์สินประมาณ 44,000,000 บาท และมีมติให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดใน รายคดีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร กับพวก กรณีบริษัท ทีซี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จำนวน 331 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 2,365,715 บาท และกรณีบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด และผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ จำนวน 58 รายการ รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 570,000 บาท

พล.ต.ต.ปรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรรมและตัดเส้นทางทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะเน้นการสืบสวนขยายผล เพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทำความผิดในรายคดีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความเข้มข้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อความสงบสุข ความมั่งคงของประเทศชาติต่อไป ภายใต้ปรัชญาการทำงานที่ว่า “ทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไขด้วยกฎหมายฟอกเงิน”

ทั้งนี้ หากพบเห็นบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ขอให้โทรแจ้งหรือสอบถามได้ที่สายด่วน ปปง. 1710 หรือผ่านทางคิวอาร์โค้ด