ยกพวกตีกันในรพ.ทำพระพุทธรูปเสียหายจำคุก 10 เดือน

ยกพวกตีกันในรพ.ทำพระพุทธรูปเสียหายจำคุก 10 เดือน

เผยปี 62 ยกพวกตีกันในรพ.ถึง 6 แห่ง แนวโน้มก่อเหตุรุนแรงที่รพ.เพิ่มขึ้น “สาธิต”ร่อนหนังสือถึงผบ.ตร. ขอกำลังตำรวจระงับเหตุที่เพียงพอ หวังผู้ก่อเหตุรับโทษสูงสุด ไม่ใช่แค่การรอลงอาญา

        วันนี้(18 พ.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.)พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนส์ กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) และผู้บริหารโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เกี่ยวกับการป้องกัน ระงับเหตุก่อความความรุนแรงในรพ. โดยเฉพาะรพ.ที่เกิดเหตุคนยกพวกตีกัน ซึ่งในปี 2562 มีถึง 6 เหตุการณ์ คือ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี รพ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา รพ.ประทาย จ.นครราชสีมา รพ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และ ล่าสุด คือที่รพ.อ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
          ผู้บริหารรพ.อ่างทอง ได้รายงานว่าได้แจ้งความเอาผิดฐานบุกรุกสถานที่ราชการไปแล้ว ซึ่งศาลไม่ให้ประกันตัว และกำลังเตรียมเอาผิดกรณีทำให้ทรัพย์สินราชการเสียหาย เนื่องจากเหตุการณ์ยกพวกตีกันในรพ.อ่างทอง เป็นเหตุให้เครื่องมอนิเตอร์อาการผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินได้รับความเสียหาย เครื่องทำน้ำเย็นเสียหาย ประตูเสียหาย รวมถึงไม้กวาดที่คู่กรณีหักด้ามมาต่อสู้กัน ส่วนที่รพ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ทางอัยการสั่งฟ้องผู้ก่อเหตุแล้ว ขณะที่รพ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา รพ.ประทาย จ.นครราชสีมา อัยการกำลังจะสั่งฟ้อง ส่วนที่รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบว่าการยกพวกตีกันทำให้พระพุทธรูปที่รพ.จัดเตรียมไว้ให้ผู้ป่วยและญาติสักการะขอพร ได้รับความเสียหาย ซึ่งขณะนี้มีการตัดสินคดีแล้วให้จำคุกผู้ก่อเหตุสูงสุด 10 เดือน
        

         นายสาธิต กล่าวว่า ในปี 2562 มีการก่อความรุนแรงในรพ.หลายครั้ง เฉพาะเหตุยกพวกตีกันมีถึง 6 ครั้ง ซึ่งในส่วนการดำเนินคดีนั้น เข้าใจดีว่าอยู่ที่ดุลพินิจของศาล ซึ่งในทางกฎหมายมีการให้รอลงอาญากรณีผู้ที่ไม่เคยทำผิดมาก่อน แต่อยากขอความกรุณาเฉพาะการก่อความรุนแรงในรพ.ให้มีการลงโทษสูงสุด ไม่ใช่แค่การรอลงอาญา เพื่อให้เป็นการหลาบจำ และไม่มากระทำความรุนแรงในรพ.อีก อย่างไรก็ตาม ตนได้ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือให้มีข้อสั่งการไปยังสถานีตำรวจทั่วประเทศ ในการจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในจำนวนที่เพียงพอต่อการระงับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดความรุนแรงในรพ. เมื่อได้รับการแจ้งจากทางรพ. ซึ่งไม่ใช่แค่ 2-3 นาย เพราะที่ผ่านมาพบว่าไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้
         “จากการประชุมกันวันนี้ได้รับรายงานเรื่องความพร้อมในการป้องกันเหตุของโรงพบยาบาล จึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะช่วยลดปัญหาความรุนแรงในรพ.ได้มาก ถ้าเกิดก็เกิดน้อยที่สุด เสียหายน้อยที่สุด แต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้อยากให้รพ.เตรียมความให้มากที่สุด เพราะเป็นเทศกาลที่มีคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เยอะ โดยเฉพาะพื้นที่อีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงเลย อย่างที่นครราชสีมา ปีนี้เกิดเหตุขึ้นถึง 2 ครั้ง” นายสาธิต กล่าว
           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนส์ มีการรายงานย้อนหลัง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2555 – 2562 มีความรุนแรงเกิดขึ้นในสถานพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวม 64 เหตุการณ์ แบ่งเป็นทะเลาะวิวาท 29 เหตุการณ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 22 เหตุการณ์ ทำลายทรัพย์สิน 4 เหตุการณ์ ก่อความไม่สงบ 1 เหตุการณ์ กระโดดตึก 6 เหตุการณ์ พนักงานเปลทะเลาะกับผู้ป่วย 1 เหตุการณ์ ญาติคนไข้ลวนลามผู้ป่วย 1 เหตุการณ์ จากเหตุการณ์ทั้งหมดส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 15 ราย ประชาชนเสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 58 ราย
          อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อแยกเหตุการณ์ความรุนแรงในรพ.ทุกกรณี ออกเป็นรายปีแล้วพบว่า ปี 2555 เกิดเหตุการณ์รุนแรง 1 ครั้ง, ปี 2557 เกิดเหตุ 1 ครั้ง, ปี 2558 เกิดเหตุ 6 ครั้ง โดยในจำนวนนี้ เป็นการยกพวกตีกันที่รพ.ตราด จ.ตราด 1 ครั้ง และยกพวกตีกันที่รพ.สิรินธร กรุงเทพฯ 1 ครั้ง, ปี 2559 เกิดเหตุ 4 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการบุกทำร้ายคู่กรณี 1 ครั้ง ที่ รพ.ชุมพรเขตอุดมศักดิ์ 1 ครั้ง ปี 2560 เกิดเหตุ 11 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นเหตุทะเลาะวิวาทในรพ. 3 ครั้ง ที่รพ.ดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ รพ.กระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และ รพ.อุดรธานี, ปี 2561 เกิดเหตุ 15 ครั้ง ในจำนวนนี้ เป็นการทะเลาะวิวาทในรพ. 1 ครั้ง คือที่รพ.นาแก จ.นครพนม และ ปี 2562 เกิดเหตุ 26 ครั้ง ตามรายงานข่าวข้างต้น ซึ่งในเอกสารได้มีการสรุปด้วยว่าสถานการณ์ความรุนแรงในรพ.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น