ศธ.ผุดนโยบายมอบโรงเรียนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ศธ.ผุดนโยบายมอบโรงเรียนร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

รมว.ศธ.ประกาศเป็นตัวเชื่อมภาครัฐและเอกชนร่วมพัฒนายกระดับการศึกษาไทย เตรียมขยายผลโครงการ CONNEXT ED บรรจุการทำบัญชีครัวเรือนในหลักสูตร นำการประเมินสู่โรงเรียนในสังกัดศธ. เผยปีหน้าวางนโยบายให้โรงเรียนช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (18 พ.ย. 2562)คณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED การมีส่วนร่วมด้านการศึกษาของ 3 ภาคส่วนหลัก ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และ 33 องค์กรภาคเอกชน เพื่อยกระดับการศึกษาไทย สู่การสร้างเด็กดี-เด็กเก่ง ของประเทศอย่างยั่งยืน จัดพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ประจำปี 2562 (CONNEXT ED WORKSHOP 2019)เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เหล่าผู้นำรุ่นใหม่ (School Partners) จำนวนกว่า 800 คน ที่จะลงพื้นที่ปฏิบัติงานและร่วมผลักดันยุทธศาสตร์การดำเนินงานไปสู่โรงเรียนประชารัฐ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)ประธานกล่าวเปิดงานว่าตนเองมารับหน้าที่ตรงนี้ เพื่อมาเชื่อมต่อสิ่งดีๆ ที่เกิดมาแล้ว ในขณะเดียวกันจะมาขยายผลและแก้ไขเรื่องต่างๆ  ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนให้รวดเร็วและเกิดความคล่องตัวมากขึ้น

"ความร่วมมือครั้งนี้ก่อให้เกิดคำสำคัญ 3 คำ คือ ประวัติศาสตร์ ปฎิรูปการศึกษา และปาฎิหาริย์ ซึ่งตอนนี้ทุกคนกำลังร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ในการปฎิรูปการศึกษาไทย และทำให้ปาฎิหาริย์เกิดขึ้นจริงในการขับเคลื่อน ใครจะไปนึกว่าประเทศไทยที่มีปัญหาการศึกษามาตลอดจะสร้างปาฎิหาริย์แก้ปัญหาการศึกษาได้ในระยะเวลาที่ไม่นาน ดังนั้น ปัญหาการศึกษาไม่ได้อยู่เหนือความสามารถของพวกเรา ไม่ใช่ปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ โครงการ CONNEXT ED แสดงให้เห็นว่าเราทำได้จริง และมองทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องทำ ถ้าเราไม่ทำเรื่องปฎิรูปการศึกษา ประเทศไทยไม่สามารถอยู่รอดได้” นายณัฎฐพล กล่าว

นายณัฎฐพล กล่าวต่อว่าผู้ที่จะมาช่วยภาครัฐในการทำงาน คือภาคเอกชน เพราะหากไม่ช่วยกันจะไม่สามารถ แข่งขันในโลกศตวรรษที่ 21 และปัญหาในโลกศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีปัญหาในการปรับตัว ทุกประเทศทั่วโลกล้วนเจอปัญหาทั้งสิ้น เพียงแต่พวกเขาอยู่ในระดับที่ดีกว่า และขณะนี้ศธ.กำลังทำทั้งเรื่องภาษาอังกฤษ ดิจิตอล ปัญญาประดิษฐ์(AI) การเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนไม่ให้เด็กท่องจำอย่างเดียว 

ความรับผิดชอบเรื่องการศึกษาถึงแม้จะอยู่ที่ภาครัฐ ศธ. แต่ต้องยอมรับว่ายังทำได้ไม่เต็มที่ ต้องอาศัยความร่วมมือ หวังว่าในอนาคตอีก 5-6 ปี ภาครัฐจะแข็งแรง มีความชัดเจน ขับเคลื่อนประเทศด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ไม่ว่าภาครัฐจะเดินไปมั่นคงขนาดไหนภาคเอกชนอย่างทิ้ง เพราะภาคเอกชนยังเป็นส่วนช่วยผลักดัน ให้ข้อมูลและร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย

“สิ่งที่ภาคเอกชนทำมาในช่วง 3 ปี หลายโครงการ ศธ.จะนำไปขยายในวงกว้าง นำไปเป็นแบบอย่างให้โรงเรียนต่างๆ  เช่น การทำบัญชีครัวเรือน จะนำไปใส่ในหลักสูตร  โครงการใดที่คิดว่าทำแล้วครูไม่เสียเวลาอยู่กับเด็กจะนำไปทำ ครูต้องเลิกทำรายงาน หรือแข่งขันกันเพื่อทำโรงเรียนสีขาว โรงเรียนสีเขียว หรือโรงเรียนอะไรก็ตาม แต่ครู โรงเรียนต้องทำเพื่อนำไปสู่การพัฒนาโรงเรียน พัฒนาเด็ก ไม่ใช่ป้ายรางวัลหน้าโรงเรียน"รมว.ศธ. กล่าว

นอกจากนั้นจะนำเรื่องระบบการประเมินที่ทำไว้ดีมาก ซึ่งศธ.จะขอนำไปใช้ เพราะถ้าศธ.ไปคิดเองต้องวางงบประมาณไปอีกพันล้าน เมื่อโครงการที่ทำดีอยู่แล้วก็จะนำไปสานต่อ รวมถึงปีการศึกษาหน้า ศธ.จะมีนโยบายผลักดันให้ทุกโรงเรียนเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม การสร้างวินัยเรื่องการจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทน โดยต้องเป็นความสามารถของผู้อำนวยการโรงเรียน ครูในการจะผลักดันเรื่องดังกล่าว เพราะต่อให้ไม่มีคำสั่งว่าต้องทำอะไรชัดเจน แต่จะมีการวัดชี้ผล จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียน ที่ต้องคิด ทำและเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ให้แก่สังคม

อย่างไรก็ตาม การศึกษาไทยต่อไป โรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ห่างจากหลักสูตรแกนกลางได้เอง ส่วนกลางจะมีหน้าที่ให้ข้อมูล และเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน จะมีความยืดหยุ่นในเรื่องของหลักสูตรที่เหมาะสมในภูมิภาคของสถานะโรงเรียนแต่ละพื้นที่ ผู้บริหารต้องนึกถึงผลประโยชน์ของนักเรียน โรงเรียน ชุมชนเป็นหลัก เพราะถ้าตัดเสื้อโหล่จะแข่งกันคนอื่นไม่ได้

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่าขณะนี้ศธ.กำลังปฎิรูปตนเอง เปิดกว้างให้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เอาสิ่งดีๆ ที่คุยกันมาใช้ และถ้าศธ. ไม่รัดเข็มขัดตนเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญของการศึกษามาก ทุกครั้งที่พบเจอจะถามว่าวันนี้ปฎิรูปอะไรไป ถามเรื่องทุจริต คอรัปชั่น ความซ้ำซ้อนของงานแก้ไขได้หรือไม่ ถ้าผู้นำของประเทศถามเรื่องเหล่านี้ แสดงว่าสนใจ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของตนในการทำเรื่องนี้ ถ้าทำได้ไม่เต็มที่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ และในสัปดาห์นี้ ตนเองได้เตรียมเชิญพรรคฝ่ายค้านต่างๆ มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษา เพื่อจะได้ทำให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ

“ผมไม่รู้ผมจะอยู่นานได้เท่าใด เฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ประมาณ 11 เดือนในการศึกษา ซึ่งตอนนี้อยู่ไปแล้ว 3 เดือน แต่การอยู่ของผมจะวางรากฐานเต็มที่ ไม่ว่าใคร ฝ่ายไหนมาทำต่อจะได้ไม่พลิกเรื่องของนโยบาย จะได้นึกถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ การศึกษาไทยจะได้โผล่มาเหนือน้ำ และเมื่อโผล่มาแล้วเราจะก้าวกระโดด เราจะเป็นผู้นำของเอเชียให้ได้ ในเรื่องการศึกษาฟังดูอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทุกฝ่ายรวมพลัง ความหวังไม่เกินเอื้อม ทุกคนเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในการขับเคลื่อน ดังนั้น หากใครมองแล้วว่าสิ่งที่ศธ.ทำอยู่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาขอให้บอกมา ผมจะไม่ทิ้งปัญหา จะใช้พลังที่ร่วมกันอยู่มากมายมาแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย” นายณัฏฐพล กล่าว

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนพร้อมเดินหน้าสานต่อโครงการ CONNEXT EDให้บรรลุตามเป้าหมายในการยกระดับการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 5 ด้านคือ 1.การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะ 2.กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม 3.การพัฒนาผู้บริหารและครูผู้สอน 4.เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ และ5.การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

โดยปีที่ผ่านมา ผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต)ของนักเรียนโรงเรียนประชารัฐที่เข้าร่วมโครงการสูงขึ้น 9.85%เมื่อเทียบกับปีการศึกษา 2560 และถือว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศอีกด้วย และในระยะที่ 3 นี้ มีแผนงานที่จะจัดทำสมุดพกดิจิทัล เพื่อให้สามารถประมวลผลและแสดงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนรายบุคคล และเตรียมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาCONNEXT EDและจัดทำระบบบริจาคออนไลน์เพื่อระดมทุนสนับสนุนด้านการศึกษารวมถึงขยายผลความร่วมมือไปยังเอกชนต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินการโครงการ  CONNEXT ED ทั้ง 2 ระยะ มีโรงเรียนเข้าร่วม 4,781 โรงเรียน หรือคือเป็น 15% ของโรงเรียนในสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศ ซึ่งมี 30,816โรงเรียน มีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 1,047,660 คน ขยายความร่วมมือจาก 12 องค์กรเอกชนผู้ร่วมก่อตั้งโครงการกับเครือข่ายพันธมิตรใหม่อีก 21 องค์กรชั้นนำ รวมเป็น 33องค์กร  และองค์กรเอกชนทั้งหมดได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนโรงเรยนประชารัฐ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,153 ล้านบาท ครอบคลุม 77จังหวัด